เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 โครงการ Food Innovation & Regulation Network (FIRN) โดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (Food Science and Technology Association of Thailand หรือ FoSTAT) ได้จัดการอบรมเรื่อง “กลยุทธ์การบริหารการออกแบบวิจัยเชิงคลินิกเพื่อยืนยันการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพของผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเชิงหน้าที่และโภชนาการ” ณ ห้องประชุมสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์ อาคารสาธารณสุขวิศิษฎ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับระบบออนไลน์ผ่านโปรแกรม Zoom โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักวิจัยและผู้ประกอบการให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักการตั้งโจทย์วิจัย การวางแผนการออกแบบและการบริหารงานวิจัยเชิงคลินิกอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และตามระเบียบงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ยื่นขอกล่าวอ้างทางสุขภาพ (health claim) เพื่อให้ได้มาซึ่ง “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์” ที่แม่นยำ สามารถสรุปผลวิจัยได้ และมีจริยธรรมการวิจัยที่ดี ไม่มีอคติ การอบรมประกอบด้วยการบรรยายและการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเชิงคลินิก
การอบรมเริ่มด้วยการบรรยายเรื่อง “จริยธรรมการวิจัยในมนุษย์และการวิจัยทางคลินิค” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.สุธรรม นันทมงคลชัย ประธานคณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เน้นหลักจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ที่นักวิจัยควรพิจารณาก่อนทำการวิจัยทางคลินิก 3 ประการ ได้แก่ หลักความเคารพในบุคคล ประกอบด้วยการขอความยินยอม การให้อิสระในการตัดสินใจเข้าร่วมการวิจัยและถอนตัว การไม่ลุกล้ำความเป็นส่วนตัว และการรักษาความลับของข้อมูลผู้เข้าร่วมวิจัย หลักผลประโยชน์โดยการออกแบบงานวิจัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเสี่ยงต่อผู้เข้าร่วมวิจัยน้อยที่สุด และหลักความยุติธรรมซึ่งแสดงโดยความยุติธรรมในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมวิจัยหรือการเลือกสุ่ม ไม่อคติ และการให้ค่าชดเชยต่างๆ นอกจากนี้นักวิจัยควรดำเนินการวิจัยให้สอดคล้องกับ “แนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พ.ศ. 2552” และควรปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามโครงร่างการวิจัยที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์
นายแพทย์ประวิช ตัญญสิทธิสุนทร ผู้อำนวยการเครือข่ายวิจัยทางการแพทย์เพื่อสังคม บรรยายเรื่อง “หลักการและขั้นตอนการดำเนินการวิจัยทางคลินิก” คุณภาพของการวิจัยทางคลินิกที่มีการให้สิ่งแทรกแซง (interventional study) ประกอบด้วยมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์ (scientific standard) และมาตรฐานทางจริยธรรม (ethical standard) โดยมาตรฐานทางวิทยาศาสตร์พิจารณา 3 ประเด็น คือความเที่ยงตรงภายใน (internal validity) หรือความสัมพันธ์ของตัวแปรต้นและตัวแปรตาม ซึ่งตัวแปรตามต้องเป็นผลมาจากตัวแปรต้นเท่านั้น ความเที่ยงตรงภายนอก (external validity) เป็นการสรุปผลการวิจัยที่ไปสู่กลุ่มประชากรเป้าหมายได้อย่างถูกต้อง และความเชื่อมั่น (reliability) โดยผลงานวิจัยที่ได้ต้องเหมือนเดิม ไม่ว่าจะทำการวิจัยแบบเดียวกันซ้ำกี่ครั้ง สำหรับมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นดำเนินการวิจัยตามแนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี ตามข้อบังคับ/แนวทางทั้งของประเทศไทยและประเทศที่นำเข้าเพื่อจำหน่าย และมีความซื่อสัตย์สุจริตในการทำวิจัยโดยปฏิบัติตามโครงร่างการวิจัย คุณภาพของการวิจัยเริ่มต้นจากการออกแบบการวิจัย (quality by design) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมวิจัยได้รับการดูแลในเรื่องสิทธิ ความปลอดภัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน ตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมการวิจัย และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งการออกแบบงานวิจัยต้องอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยง (risk-based approach) ตั้งแต่ความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมวิจัย การขอความยินยอม สิทธิการถอนตัว การรักษาความลับของข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าร่วมวิจัย ความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูล จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัย การดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนและระยะเวลาที่ระบุในโครงร่างการวิจัย การวางแผนการดำเนินการวิจัยทางคลินิกประกอบด้วย 3 ขั้นตอน ดังนี้ study start-up เป็นการทบทวนวรรณกรรม การประชุมร่วมกันของทีมวิจัยเพื่อให้ได้ข้อสรุปของขั้นตอนการวิจัย แผนการทดลอง ข้อมูล/ตัวแปรตามที่ต้องการ วิธีวิเคราะห์ทางสถิติ ซึ่งนำไปสู่การจัดทำโครงร่างการวิจัยและการขอรับรองจริยธรรมการวิจัย ขั้นตอน study conduct เป็นการทำวิจัยตามโครงร่างการวิจัยที่ได้รับการรับรองจริยธรรมแล้ว ได้แก่ การสรรหาผู้เข้าร่วมวิจัย การขอความยินยอมซึ่งประกอบด้วยเอกสารสำคัญ 2 ฉบับคือ เอกสารชี้แจงผู้เข้าร่วมวิจัยและหนังสือแสดงเจตนายินยอมเข้าร่วมการวิจัย และการดำเนินการวิจัย/กระบวนการเก็บข้อมูลในคน สำหรับขั้นตอน data analysis ประกอบด้วยการตรวจสอบข้อมูลและลบข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง/ไม่สมบูรณ์ออก การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ การจัดทำสรุปผลการวิจัยและบทความทางวิชาการ
การบรรยายเรื่อง “การกล่าวอ้างทางสุขภาพ” โดยคุณศิริรัตน์ ปรีชา นักวิชาการอาหารและยาปฏิบัติการกลุ่มกำหนดมาตรฐาน กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เน้นความรู้ความเข้าใจในการขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพ โดยการกล่าวอ้างทางสุขภาพ (health claim) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหาร (nutrient function claims) การกล่าวอ้างหน้าที่อื่น (other function claims) และการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงจากการเกิดโรค (reduction of disease-risk claims) การกล่าวอ้างหน้าที่สารอาหารเป็นการแสดงสรรพคุณหรือคุณประโยชน์เกี่ยวกับบทบาทของสารอาหารที่มีผลต่อการทำหน้าที่ตามปกติของร่างกาย เช่น วิตามินซีช่วยเพิ่มการดูดซึมเหล็ก ซึ่งข้อความการกล่าวอ้างเกี่ยวกับหน้าที่สารอาหารได้จัดทำเป็น positive list ไว้ในแนบท้ายประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง การแสดงข้อความกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร สำหรับข้อความที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในประกาศฉบับนี้ ต้องยื่นขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพต่อหน่วยประเมินการกล่าวอ้างที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้การยอมรับ การกล่าวอ้างหน้าที่อื่นเป็นการแสดงสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้ร่างกายทำหน้าที่เป็นไปตามปกติ เช่น เบต้า-กลูแคนจากข้าวโอ๊ตมีส่วนช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล สำหรับการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเป็นการแสดงสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค อาการหรือสภาวะใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น การบริโภคอาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาจช่วยลดความดันโลหิต ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์อาหารที่ขอประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพต้องมีความปลอดภัยและมีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนด ซึ่งหากเป็นอาหารใหม่ (novel food) จะต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยในสัตว์ทดลองหรือในคนก่อน และต้องแสดงฉลากโภชนาการและปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากโภชนาการ การกล่าวอ้างทางสุขภาพต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องและเป็นปัจจุบัน ซึ่งต้องเพียงพอในการพิสูจน์ยืนยันผลของการกล่าวอ้างกับความสัมพันธ์ต่อสุขภาพ สำหรับเอกสารทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงการพิสูจน์การกล่าวอ้างทางสุขภาพ ได้แก่ systematic review และ meta-analysis หรือข้อคิดเห็นทางวิชาการ (scientific opinion) และ/หรือ รายงานผลการศึกษาในมนุษย์ที่มีการออกแบบอย่างดี (เช่น randomized controlled trial) ที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ ขั้นตอนการพิจารณาเริ่มจากการยื่นเอกสารให้หน่วยประเมินการกล่าวอ้างพิจารณาก่อน ซึ่งหากมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ครบถ้วนเพียงพอจึงยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต่อไป
รองศาสตราจารย์ ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ ในฐานะหัวหน้าศูนย์ประเมินด้านโภชนาการและการกล่าวอ้างทางสุขภาพของผลิตภัณฑ์อาหารแห่งประเทศไทย (CNACT) ได้กล่าวถึงบทบาทของ “CNACT” ซึ่งให้บริการประเมินด้านโภชนาการและความปลอดภัยของอาหารที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ (อาหารทางการแพทย์ อาหารเฉพาะโรค) และประเมินประสิทธิผลและความเหมาะสมของการกล่าวอ้างทางสุขภาพของผลิตภัณฑ์อาหาร ก่อนที่ผู้ประกอบการจะยื่นเอกสารหลักฐานทั้งหมดต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเพื่อพิจารณาอนุญาต ซึ่งที่ผ่านมามีผลิตภัณฑ์อาหารหลายชนิดที่ได้ผลการประเมิน “ไม่ผ่าน” เนื่องจากการออกแบบวิจัยทางคลินิกยังไม่ตอบโจทย์วัตถุประสงค์ ทั้งนี้หน่วยงานที่ให้คำปรึกษาด้านการวิจัยประสิทธิผลเชิงสุขภาพด้วยวิธีทางคลินิกแก่ผู้ประกอบการ อาทิ FIRN ซึ่งจัดอบรมความรู้ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย การตั้งโจทย์วิจัย และขั้นตอนการวิจัยประสิทธิผลเชิงสุขภาพ รวมทั้งมีฐานข้อมูลต่างๆ ให้สืบค้นผ่านระบบออนไลน์ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งเป็นแหล่งทุน ได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (กองอาหาร กองสมุนไพร) ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับขั้นตอนและการออกแบบวิจัยทางคลินิก
สำหรับในช่วงบ่าย เริ่มด้วยการเสวนาหัวข้อ “แนวทางการออกแบบทางคลินิกที่ดี และปัญหาที่มักพบบ่อย” โดยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์วิจัยทางคลินิค 3 ท่าน ได้แก่นายแพทย์ประวิช ตัญญสิทธิสุนทร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล และอาจารย์ ดร.จันทร์จิรา โพธิ์สัตย์ อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินรายการโดยรองศาสตราจารย์ ดร.พัชราณี ภวัตกุล หัวหน้าภาควิชาโภชนวิทยา ในประเด็นเหตุผลที่ผู้ประกอบการควรทำงานวิจัย รศ. ดร.ฉัตรภากล่าวว่า การทำวิจัยทำให้เกิดความรู้ใหม่ ทั้งทางทฤษฎีและทางปฏิบัติที่สามารถนำไปใช้ได้ ผู้ประกอบการมีความเข้าใจกระบวนการวิจัยตามลำดับขั้นตอนมากขึ้น สามารถหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีหลักการ ผลวิจัยที่ได้สามารถนำไปขอสัญลักษณ์จากองค์กรด้านสุขภาพ และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น สำหรับประเด็นการทบทวนวรรณกรรม การออกแบบงานวิจัยให้ได้ดี มีผลต่อน่าเชื่อถือควรทำอย่างไร นพ.ประวิชกล่าวว่า ก่อนอื่นต้องมีความชัดเจนว่าทำวิจัยเพื่ออะไร หลักการและเหตุผลในการทำวิจัย ต้องหาข้อมูลเบื้องต้นก่อนโดยการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) ประสิทธิภาพของสารสำคัญที่ต้องการกล่าวอ้าง กลไกการออกฤทธิ์ และกลุ่มเป้าหมายที่จะศึกษา/กลุ่มคนที่จะเอาผลิตภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์คือใคร ผลลัพธ์ทางคลินิกที่ต้องการควรกำหนดผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รอง ทั้งนี้การออกแบบงานวิจัยที่ดีควรคำนึงถึงความปลอดภัยต่อผู้เข้าร่วมวิจัยด้วย รศ. ดร.ฉัตรภากล่าวเสริมถึงการออกแบบงานวิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบประสิทธิผลที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแนะนำคือ randomized controlled trial (RCT) ประกอบด้วยกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ซึ่งให้ผลที่น่าเชื่อถือ พร้อมกับยกตัวอย่างการออกแบบงานวิจัยเชิงคลินิก ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “ผลของการบริโภคเครื่องดื่มนมอัลมอนด์สกัดเย็นต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาพในกลุ่มผู้มีน้ำหนักเกินและโรคอ้วน” และโครงการวิจัยเรื่อง “เยลลี่ผสมสารสกัดจากธรรมชาติต่อการเปลี่ยนแปลงสุขภาพในอาสาสมัครสุขภาพดี” อ. ดร.จันทร์จิรากล่าวเน้นถึงความสำคัญของการกำหนดตัวแปรตามที่ควรครอบคลุมและสามารถตอบวัตถุประสงค์ของงานวิจัยได้
ช่วงถาม-ตอบ มีคำถามจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับงบประมาณที่ใช้ในการทำวิจัยทางคลินิคที่ค่อนข้างสูง รศ. ดร.ฉัตรภาได้แนะนำให้ผู้ประกอบการขอทุนวิจัยประเภททุนสนับสนุนโครงการวิจัยจากความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก (matching fund) ซึ่งผู้ประกอบการออกเงินค่าใช้จ่าย 10-50% ขึ้นกับแหล่งทุน ผู้แทนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวเสริมว่าทางหน่วยงานมีทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยทางคลินิคให้แก่ผู้ประกอบการ โดยทุนนี้ไม่รวมการสนับสนุนค่าตอบแทนแก่ผู้เข้าร่วมวิจัย นอกจากนี้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ก็ให้ทุนสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการเช่นกัน ส่วนคำถามจากผู้ประกอบการที่ว่าเหตุใดกลุ่มประชากรที่ศึกษาจึงต้องเป็นคนสุขภาพดี ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นว่า เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าอาหารหรือสารประกอบในอาหารนั้นมีความปลอดภัยต่อคนสุขภาพดีก่อนที่จะไปศึกษาในกลุ่มเปราะบาง เช่น กลุ่มเด็ก ผู้ป่วย
ช่วงท้ายของการอบรมเป็นการบรรยายเรื่อง “การศึกษาเชิงคลินิกของสารสำคัญในอาหาร-ไม่ใช่เรื่องยาก” โดยรองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิงดุลยพร ตราชูธรรม รองหัวหน้ากลุ่มวิชาการและวิจัยด้านอาหารและโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับความท้าทายในการทำวิจัยทางคลินิก เพื่อนำไปสู่การกล่าวอ้างทางสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกจำหน่ายได้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ต้องมีความสอดคล้องกับข้อความที่กล่าวอ้าง และไม่กล่าวอ้างเกินจริง เส้นทางการได้รับอนุมัติของผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันประกอบด้วย การทบทวนกฏเกณฑ์และข้อกำหนดของมาตรฐาน/แนวปฏิบัติต่างๆ การกำหนดกลุ่มประชากรเป้าหมายและการกล่าวอ้างทางสุขภาพที่อาจเป็นไปได้ของสารสำคัญในอาหาร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การประเมินความปลอดภัย และการทำวิจัยประสิทธิผลเชิงสุขภาพ ในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันควรคำนึงถึง 3 ปัจจัยที่สำคัญและสัมพันธ์กัน ได้แก่ ปลอดภัย มีประโยชน์ และกินได้ โดยปริมาณสารสำคัญที่เติมในอาหารต้องน้อยกว่าปริมาณที่พิสูจน์แล้วว่าปลอดภัยซึ่งอาจเป็นการศึกษาในสัตว์ทดลองหรือในมนุษย์ก็ได้ โดยสรุปการทำให้การวิจัยทางคลินิกไม่ใช่เรื่องที่ยาก สามารถทำได้โดยการทบทวนกฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในทุกมิติ การเลือกชนิดและปริมาณสารสำคัญที่ต้องการกล่าวอ้างโดยคำนึงถึงความปลอดภัย ประโยชน์ และอาหารนั้นยังคงกินได้ การเลือกประเภทของการกล่าวอ้างทางสุขภาพและการเลือกประเภทของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงการพิสูจน์การกล่าวอ้างทางสุขภาพ และทีมวิจัยควรประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ช่วงถาม-ตอบ มีคำถามจากผู้ประกอบการเกี่ยวกับวิธีวิเคราะห์สารที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและยังไม่มีหน่วยงานไหนให้บริการวิเคราะห์ สามารถนำมาใช้ในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร การศึกษาความปลอดภัย หรือการศึกษาประสิทธิผลได้หรือไม่ ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นว่า สามารถใช้ได้ โดยต้องแสดงข้อมูลผลการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธี เช่น limit of detection (LOD), limit of quantitation (LOQ) ความเที่ยง (accuracy) และความแม่น (precision) หรือแสดงผลการตรวจสอบความใช้ได้ของวิธีที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่น่าเชื่อถือ
สามารถติดตามข่าวสารอื่นของ Food Innovation & Regulation Network (FIRN) ได้ที่
เว็บไซต์: https://www.firn.or.th
Facebook: https://www.facebook.com/firn.fanpage