ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร จึงเป็นหนึ่งใน Growth Engine หลัก (S-Curve) ที่ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมากเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (MIT) การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรภาคการเกษตรในรูปแบบ Soft power และปลดล็อกข้อจำกัดในการพัฒนาธุรกิจเกษตรและอาหารมูลค่าสูงอย่างเป็นขั้นตอน สอดคล้องกับการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ BCG จึงเป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมการเพิ่มมูลค่าภาคการเกษตรของไทยอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่คุณค่าและมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารและการเกษตร เพิ่มและกระจายรายได้สู่เกษตรกรโดยตรง โดยไม่จำกัดอยู่กับกลุ่มธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
ดร.สุวิทย์ ยังได้ขยายความถึงสินค้าเกษตรและอาหารมูลค่าสูง ที่กำลังมีการผลักดันเพื่อให้เกิดเป็น Model ตัวอย่าง อีกว่า
“ในประเทศญี่ปุ่นมีการรับรองผลิตภัณฑ์แล้ว 5,300 รายการ แต่สำหรับประเทศไทยซึ่งเริ่มมีการศึกษา Model นี้ประเทศไทยมีกรณีตัวอย่างมี 2 ตัวอย่าง คือ ขมิ้นชัน และข้าวสี จากการศึกษาขมิ้นชันกว่า 30 สายพันธุ์ เราได้ขมิ้นชันสายพันธุ์ลักษณะดี 14 สายพันธุ์ มีเคอร์คิวมินนอยด์สูงถึงร้อยละ 10-12 ซึ่งค่าปกติจะอยู่ที่ร้อยละ 5-7 และมีอีก 1 ชุมชนที่คือบ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี ที่สามารถปลูกขมิ้นชันแล้วมีสารเคอร์คิวมินนอยด์ร้อยละ 15 ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งปลูกที่มีสารเคอร์คิวมินนอยด์ที่สูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบการประกอบอาหารแล้ว คนไทยยังใช้ขมิ้นชันเป็นยาในการดูแลสุขภาพ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ และลดคอเรสเตอรอลในเลือดส่วนข้าวสีหรือข้าวสายพันธุ์ต่างๆ ที่เมล็ดข้าวมีสี ในกรณีตัวอย่างเราได้ศึกษาข้าวเหนียวลืมผัว ข้าวสังข์หยด ข้าวก่ำ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ศึกษาเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ข้าวเหล่านี้มีสาระสำคัญอะไรบ้าง คุณประโยชน์ต่อสุขภาพมีอะไรบ้าง และในส่วนของข้าวเรายังศึกษาต่อไปถึงกระบวนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น การนำไปสกัดเป็นน้ำมันรำข้าวแล้วได้สารสำคัญอะไร มีคุณค่าทางโภชนาการอย่างไร อันนี้เป็นแค่ตัวอย่าง ในความเป็นจริงเราพยายามผลักดันการศึกษาไปยังพืชผัก ผลไม้ พืชสวน พืชไร่ อื่นๆ อีกด้วย”