Food Innovation &
Regulation Network

l

สรุปกิจกรรม “ขับเคลื่อนประเทศไทย ยกระดับธุรกิจอาหารมูลค่าสูงให้ก้าวไกลด้วย FFC”

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565  โครงการ Food Innovation and Regulation Network หรือ “FIRN” ได้จัดกิจกรรมการบรรยายและการเสวนา ภายใต้ธีม “ขับเคลื่อนประเทศไทย ยกระดับธุรกิจอาหารมูลค่าสูงให้ก้าวไกลด้วย FFC” ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค โดยมี ศ. ดร.ภาวิณี  ชินะโชติ ที่ปรึกษาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (Food Science and Technology Association of Thailand หรือ FoSTAT) และหัวหน้าโครงการ Food Innovation and Regulation Network (FIRN)  และ Dr.Masuko Koburi จาก Institute of Food Research, National Agriculture and Food Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น ได้ให้เกียรติเป็นวิทยากรบรรยาย

            ศ. ดร.ภาวิณี ได้กล่าวถึงความสำคัญของ Foods with Function Claims หรือ FFC Thailand ว่าคือ ระบบที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการกล่าวอ้างของอาหารเชิงหน้าที่ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในประเทศไทยสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงหน้าที่และแสดงข้อความการกล่าวอ้างสรรพคุณในการช่วยสร้างเสริมสุขภาพในบุคคลปกติทั่วไปได้ โดยผู้ประกอบการรับรองตนเองภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด  FFC Thailand เป็นระบบที่มีรูปแบบออนไลน์ อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการและนักวิจัยสามารถเข้าถึงฐานข้อมูลต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูล bioactive data เข้าใจถึงกฏระเบียบและขั้นตอนที่จำเป็นต่อการขออนุญาต  โดยมีคำแนะนำตั้งแต่การออกแบบงานวิจัยทางด้านคลินิค จนถึงเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการขออนุญาต  ทั้งนี้หากเอกสารที่ยื่นครบถ้วนได้และถูกต้องตามเกณฑ์ คาดว่าจะสามารถติดฉลากออกจำหน่ายได้ภายในเวลา 60 วัน นอกจากนี้ FFC ยังมีระบบติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังออกสู่ท้องตลาด ว่ามีสารที่กล่าวอ้างในปริมาณตามที่กำหนดหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถเข้าไปสืบค้นเพื่อดูข้อมูลผลงานวิจัยด้านความปลอดภัยและการศึกษาทางคลินิคของผลิตภัณฑ์ได้ ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้มากขึ้น  ประเทศไทยได้นำโมเดลตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางในการรับรอง FFC Thailand และเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกการจัดตั้ง FFC Thailand เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ ยกระดับอาหารมูลค่าสูง ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG

Dr. Masuko Koburi ได้กล่าวว่า FFC Japan ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2015 ได้ส่งผลทำให้มูลค่าทางการตลาดของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดย ณ วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2565  เว็ปไซต์ของ Consumer Affairs Agency (CAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล มีข้อมูล FFC ทั้งสิ้น 5,550 รายการ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นผลิตผลทางการเกษตร หรือ fresh produce จำนวน 149 รายการ Dr. Koburi ได้กล่าวถึงขั้นตอนการได้รับอนุญาต FFC จาก CCA ประกอบด้วย 1) ให้พิจารณาก่อนว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ได้หรือไม่  2) ตรวจสอบด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ 3) มีระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพ 4) มีระบบในการรวบรวมข้อมูลหรือเหตุการณ์ด้านสุขภาพที่ไม่พึงประสงค์ 5) ทำการตรวจสอบหรือพิสูจน์ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ โดยการทดสอบทางคลินิค หรือทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic literature review) และ 6) แสดงข้อมูลบนฉลากอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ Dr. Koburi ยังได้ยกตัวอย่างการทดสอบทางคลินิคของผลิตภัณฑ์ถั่วเน่าญี่ปุ่น (natto) ชนิดที่มีปริมาณแกมมาโพลีกลูตามิกเอซิดสูง ซึ่งช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้  และการทดสอบทางคลินิคของหัวหอมใหญ่สายพันธุ์ Sarasara Gold ปลูกที่บริเวณ Kitami ใน Hokkaido ซึ่งเป็นชนิดที่มีสารเควอซิทินสูง (quercetin rich onion) ช่วยเสริมความสามารถด้านcognitive function ในผู้สูงอายุ ซึ่งงานวิจัยทั้งสองเรื่องเป็นความร่วมมือกันของ NARO  มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

สำหรับการเสวนาหัวข้อ “การสร้างความร่วมมือสร้างนวัตกรรมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สุขภาพมูลค่าสูง” เป็นการพูดคุยถึงบทบาทความเชื่อมโยงกันของผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  ของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และหน่วยสนับสนุนงานวิจัย ทิศทางในการร่วมกันดำเนินงาน เพื่อจะทำให้มีการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยในอนาคตอันใกล้นี้ ดำเนินรายการโดยคุณกัลยาณี จันทรเจิด ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย คุณวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)   คุณศนิดา คูนพานิช นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ สำนักกำหนดมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ (รักษาการ) ผู้อำนวยการกองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) คุณจิรารัตน์ เทศะศิลป์ นักวิชาการอาหารและยา ชำนาญการพิเศษ กองอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

            คุณวิเชียร เชิดชูตระกูลทอง ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการ เห็นด้วยกับแนวคิด FFC Thailand แต่อยากให้เน้นแนวทางวิธีปฏิบัติ มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จให้เห็นอย่างชัดเจน  อยากเห็นการสนับสนุนจากภาครัฐตลอดห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ที่ต้องการความรู้ การวิจัยและการพัฒนา

            ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำ สนับสนุนทุนวิจัยเชิงนโยบายแก่ FIRN เพื่อจัดทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ  เป็นจุดเริ่มต้นในการศึกษาศักยภาพของสินค้าเกษตรไทย เพื่อนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าในเรื่องของ FFC นอกจากนี้ สวก. ยังสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิจัยเพื่อศึกษาปริมาณสารสำคัญและความเป็นพิษในอาหาร 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) พืชสมุนไพร 2) ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์ปีก  3) อาหารท้องถิ่น และ 4) พืชเศรษฐกิจ ข้าว ผลไม้ ซึ่งปัจจุบันมีฐานข้อมูลงานวิจัยมากพอที่จะใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสนับสนุนกลไกในการรับรอง FFC ในอนาคต

            คุณศนิดา คูนพานิช สำนักกำหนดมาตรฐาน มกอช.  ได้กล่าวถึงการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพตลอดห่วงโซ่อุปทานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยใช้มาตรฐานเป็นตัวขับเคลื่อนตลอดทั้งระบบ ทั้งมาตรฐานด้านคุณภาพอาหาร มาตรฐานด้านความปลอดภัยอาหาร และมาตรฐานด้านโภชนาการ รวมถึงมาตรฐานการผลิต โดย มกอช. มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานต่างๆ บนข้อมูลวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ มกอช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ร่วมกับ อย. อยู่ระหว่างดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษารูปแบบและกลไกการบริหารจัดการกล่าวอ้างประสิทธิผลของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีผลต่อสุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร ซึ่งจะมาดูแลเรื่องของ FFC โดยมีภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมาทำงานร่วมกัน และจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดูกลไกการดำเนินงานและเกณฑ์การกล่าวอ้าง มีการจัดทำแผนการวิจัยแบบบูรณาการ ศึกษา การผลิตเพื่อให้ได้รับปริมาณสารสำคัญให้ได้ในปริมาณสูงและสม่ำเสมอ ตลอดจนระบบการรับรองด้านคุณภาพ และความปลอดภัย

            คุณจิรารัตน์ เทศะศิลป์ กองอาหาร อย. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลและอนุญาตในการรับรอง FFC ได้กล่าวถึงการสนับสนุนข้อมูลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ด้านความปลอดภัย ความเป็นพิษ การศึกษาในมนุษย์เกี่ยวกับประสิทธิภาพของสาร  และการพัฒนาระบบการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  รวมทั้งมีการร่วมมือกับแหล่งทุนเช่น สวก. เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงข้อมูลหลักฐานที่ อย.ต้องการเพื่อขออนุญาต FFC นอกจากนี้กองอาหารยังร่วมกับ FoSTAT จัดสัมนาด้านกฏระเบียบต่างๆ แก่ผู้ประกอบการ  และยังได้รับเชิญจากผู้วิจัยบางรายในการให้ข้อมูลความเป็นไปได้ในการทำวิจัย

            ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ (รักษาการ) ผอ.กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร กล่าวถึงทิศทางในการสนับสนุน FFC โดย อย. จะเปลี่ยนรูปแบบจาก regulator มาเป็น promoter ในขั้นตอนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เริ่มจาก basic research นั้น อย. มีบทบาทน้อย แต่เมื่อเริ่มเข้าสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ อย.จะเข้ามีบทบาทมากขึ้นโดยเป็นผู้ให้คำปรึกษา ทั้งนี้ในบทบาทใหม่จะจัดระบบการให้คำปรึกษาการพัฒนาของนวัตกรรม โดยจัดตั้งกองผลิตภัณฑ์สุขภาพนวัตกรรมและการบริการ ดูแลให้คำปรึกษาครบวงจร ตั้งแต่ product classification เอกสาร scientific consultation  การเตรียมเอกสารเพื่อขออนุญาต  บ่มเพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพให้เกิดขึ้นได้จริง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ นอกจากนี้ยังมีแนวทางการจัดทำ positive lists ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลของยาแผนไทย 103 รายการ ยาพัฒนาสมุนไพร 12 รายการ ยาสมุนไพรเพื่อสุขภาพ 33 รายการ อยู่บนเว็บไซต์

รศ. ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  กล่าวว่า บพข. ช่วยสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างนักวิจัย/มหาวิทยาลัย หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ตลอดห่วงโซ่เพื่อต่อยอดงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์ ปัจจุบัน บพข. ทำ MOU กับ อย. ในเรื่องของอาหาร สมุนไพร และเครื่องมือแพทย์  ให้นักวิจัย ผู้ประกอบการ และ อย. ในฐานะที่ปรึกษา ได้คุยกันให้เข้าใจตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อที่ว่าเมื่อทำวิจัยเสร็จแล้ว จะได้นำผลิตภัณฑ์ไปขึ้นทะเบียนหรือขอรับรองได้เลย สำหรับกรอบทุนวิจัยที่ บพข. สนับสนุนนั้น ครอบคลุมตั้งแต่ 1) pilot plant infrastructure แก่หน่วยงานของรัฐในการพัฒนาเพื่อทำ scale up 2) ระบบ National quality infrastructure (NQI) โดยสนับสนุนตลอดห่วงโซ่ของพืชที่เลือกมาในระดับประเทศ 3) ทุนสนับสนุนแก่หน่วยงาน policy/law/regulation  และ 4) Strategic topic เช่น การผลิต food ingredient เองในประเทศแทนการนำเข้า

            ในส่วนท้ายของการเสวนา ผู้ประกอบการได้สอบถามถึงความเป็นได้ในการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยกระเทียมจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน สู่อาหารมูลค่าสูงด้านสุขภาพ เนื่องจากกระเทียมแม่ฮ่องสอนมีความเข้มของกลิ่นและความเผ็ดร้อนสูง มีผลผลิตต่อปีในปริมาณมาก แต่ก็ยังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ดร.สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ ผู้อำนวยการ สวก. ได้ชี้แจงว่าหากผลการวิเคราะห์ศักยภาพเบื้องต้นพบว่ามีความเป็นได้ในการพัฒนาไปสู่ FFC ทาง สวก. ก็ยินดีให้การสนับสนุน โดยเฉพาะการวิเคราะห์ปริมาณสารสำคัญและสรรพคุณในพืชผลเกษตร ทั้งนี้ สวก. จะประสานกับนักวิจัยและสืบค้นข้อมูลจากฐานข้อมูลทางวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้ว ภก.วราวุธ เสริมสินสิริ (รักษาการ) ผอ.กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้เสนอให้มีการออกแบบกลไกความร่วมมือของทุกภาคส่วนในระยะยาวสำหรับกระเทียมจากแม่ฮ่องสอน และใช้เคสนี้เป็นต้นแบบความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ แหล่งทุน นักวิจัย ภาครัฐที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐาน และภาครัฐที่ทำหน้าที่ให้การรับรอง

Video Clip