Food Innovation &
Regulation Network

l

(Key Success Guideline for FFC Thailand with Ecosystem Development and Management)

สรุปการสัมมนาเรื่อง “แนวทางการจัดการเพื่อพัฒนาระบบนิเวศสำหรับทีมนวัตกรรม FFC สู่ความสำเร็จ”

(Key Success Guideline for FFC Thailand with Ecosystem Development and Management)

วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 16.00 น.
ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ

  เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566  โครงการ Food Innovation Regulation Network (FIRN) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้จัดสัมมนาหัวข้อ “แนวทางการจัดการเพื่อพัฒนาระบบนิเวศสำหรับทีมนวัตกรรม FFC สู่ความสำเร็จ” (“Key Success Guideline for FFC Thailand with Ecosystem Development and Management”) ในงาน Food Innovation Asia Conference 2023 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค

  ผศ. ดร.อาณดี นิติธรรมยง นายกสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย กล่าวเปิดการสัมมนาโดยมีใจความว่า  FIRN ภายใต้การสนับสนุนของ บพข. มีแนวคิดในการพัฒนาระบบการกล่าวอ้างสำหรับอาหารฟังก์ชันของประเทศไทย หรือระบบ FFC Thailand โดยความร่วมมือของ National Agriculture and Food Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีระบบ FFC ที่ช่วยให้ผลิตผลสดทางการเกษตรไปจนถึงผลิตภัณฑ์อาหารสามารถระบุคำกล่าวอ้างต่างๆ ได้    ระบบ FFC Thailand จะเกิดขึ้นได้ต้องมีการทำงานแบบ ecosystem (ระบบนิเวศทางธุรกิจ) คือต้องมีความพร้อมของนักวิจัย งานวิจัย และการทดสอบด้านต่างๆ เพื่อจะไปสู่การกล่าวอ้าง  รวมทั้งความพร้อมของระบบการขอรับรอง และการเตรียมพร้อมผู้บริโภคโดยการสื่อสารให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงประโยชน์ของการกล่าวอ้าง เพื่อใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้ออาหาร  ความร่วมมือกันของหลายภาคส่วนนี้มีความสำคัญในการผลักดันให้เกิดระบบ FFC ในประเทศไทย

  Dr. Masuko Koburi, Manager, Division of Food Function Research, Institute of Food Research, National Agriculture and Food Research Organization (NARO) ประเทศญี่ปุ่น บรรยายเรื่อง “Foods with Functional Claims (FFC) Japan: Systematic Review Case Study”   มูลค่าทางการตลาดของอาหารที่มีการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพ (foods with function claims; FFC) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างปี ค.ศ. 2020 ถึง 2021 มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากข้อมูลพบว่า ในปี ค.ศ. 2021 มูลค่าทางการตลาดของผลิตผลสดทางการเกษตรหรือ fresh produce คิดเป็น 3.9% ของมูลค่าอาหารฟังก์ชันทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับของปี ค.ศ. 2020   ระบบ food labelling สำหรับการกล่าวอ้างทางโภชนาการและสุขภาพในประเทศญี่ปุ่นถูกกำกับดูแลโดย Consumer Affairs Agency (CAA) ภายใต้ Ministry for State Consumer Affairs and Food Safety   อาหารที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) อาหารที่มีการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหาร 2) อาหารที่มีการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ (FFC) และ 3) อาหารเพื่อสุขภาพตามที่กำหนด (foods for specified health uses; FOSHU) 

 

  ระบบ FFC ครอบคลุมตั้งแต่ผลิตผลสดทางการเกษตรไปจนถึงอาหารและผลิตภัณฑ์อาหาร การพิจารณาอนุญาตการกล่าวอ้างระหว่าง FOSHU และ FFC แตกต่างกันตรงที่ FOSHU มีคณะกรรมการอิสระในการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัย ในขณะที่ FFC ผู้ประกอบการรับผิดชอบในการเตรียมเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยหน่วยงาน CAA ทำหน้าที่ทบทวนเอกสารหลักฐานให้เป็นไปตามเกณฑ์กำหนด ข้อมูลของ FFC ที่ได้จากผู้ประกอบการจะถูกเปิดเผยบนเว็บไซต์ของ CAA ณ วันที่ 3 มิถุนายนปีนี้ มีข้อมูล FFC ทั้งสิ้น 6967 รายการ ในจำนวนนี้เป็นผลิตผลสดทางการเกษตร 198 รายการ เช่น ส้ม แอปเปิ้ล ผักโขม บวบหอม (sponge gourd) และหอมหัวใหญ่ ในการขอจดแจ้ง FFC ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้ 1) ต้องพิจารณาก่อนว่าผลิตภัณฑ์นั้นสามารถกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ได้หรือไม่ 2) รวบรวมข้อมูลปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ อาจเป็นประวัติการบริโภค ฐานข้อมูลทุติยภูมิ หรือทำการวิจัยเพื่อประเมินความปลอดภัย 3) สร้างระบบการผลิตและการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ 4) สร้างระบบในการรวบรวมข้อมูลที่ไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพจากผู้บริโภคและนักวิชาการ 5) ยืนยันประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ โดยการวิจัยทางคลินิก (clinical trial) หรือทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic literature review) ซึ่ง ณ ขณะนี้ 95% ของ FFC ได้ข้อมูลมาจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ  และขั้นตอนสุดท้ายคือ 6) แสดงข้อมูลบนฉลากซึ่งต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของฉลากอาหารและแนวทางของ FFC เมื่อผู้ประกอบการส่งเอกสารหลักฐานทั้งหมดให้ CAA แล้ว CAA จะใช้เวลาประมาณ 5 สัปดาห์ในการทบทวนเอกสารหลักฐาน หากข้อมูลครบถ้วน ผู้ประกอบการจะได้รับเลขทะเบียนหรือเลขจดแจ้ง (notification number) สำหรับ FFC ข้อมูลต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จะถูกนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ CAA ซึ่งผู้บริโภคและผู้ที่สนใจสามารถค้นข้อมูลของ FFC บนฐานข้อมูลโดยใช้คำสำคัญ (keyword) หรือเลขทะเบียนก็ได้

  นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงภาระกิจของ Division of Food Function Research ในการศึกษาประสิทธิผลของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อใช้เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในการยื่นขออนุญาต และยกตัวอย่างงานวิจัย ได้แก่
1) การวิจัยทางคลินิกของหอมหัวใหญ่ชนิดที่มีเควอซิทินสูง (quercetin-rich onion) เพื่อช่วยเสริมความสามารถด้านความรู้ความเข้าใจ (cognitive function) ในผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม
2) ผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของโพรไซยานิดินในแอปเปิ้ล (apple procyanidin) พบว่าสารไซยานิดินช่วยลดไขมันช่องท้อง (visceral fat)
  ช่วงที่ 2 ศ. ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษา FoSTAT และหัวหน้าโครงการ FIRN บรรยายเรื่อง “FFC Thailand on-line system-a preview”  หลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการอาหารแห่งชาติได้เห็นชอบข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนากลไกการจัดตั้ง FFC Thailand ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ FFC ขึ้นเพื่อขับเคลื่อนการทำงานของ FFC Thailand ทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ  ต้นน้ำคือผลิตผลทางการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)  กรมวิชาการเกษตร  หน่วยส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตเกษตรเพื่อสารสำคัญ   ปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในบรรจุภัณฑ์ กำกับดูแลโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  สำหรับ  FoSTAT/FIRN เป็นกลุ่มนักวิชาการทำงานสนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และให้บริการจัดฝึกอบรม จึงอยู่ทั้งในส่วนต้นน้ำและปลายน้ำ นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัย เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) หรือ สวก. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) การเลือกแหล่งทุนขึ้นอยู่กับระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (technology readiness level; TRL) ของงานวิจัย เช่น TRL 1-3 เป็นช่วงงานวิจัยพื้นฐาน แหล่งทุนคือ วช.  TRL 4-7 เป็นช่วงการพัฒนาต้นแบบ แหล่งทุนคือ บพข. ส่วน TRL 8 และ 9 เป็นช่วงการผลิตพร้อมจะไปสู่ตลาด แหล่งทุนคือ NIA

  สำหรับระบบ FFC ออนไลน์ที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ศ. ดร.ภาวิณี ได้กล่าวว่า FFC คืออาหารเชิงหน้าที่หรืออาหารที่อ้างอิงสรรพคุณ โดยเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบหรือสารสำคัญ ซึ่งนอกจากมีความปลอดภัยต่อการบริโภคแล้ว ยังต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันว่ามีผลต่อการปรับปรุงระบบหรือการทำงานของร่างกายอีกด้วย หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญคือ ผลการวิจัยทางคลินิกที่ถูกออกแบบอย่างดี และผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมา FIRN ได้จัดการอบรมการวิจัยทางคลินิกและการฝึกปฏิบัติการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบให้แก่นักวิจัยและผู้ที่สนใจ ระบบ FFC Thailand เป็นระบบสนับสนุนที่มีการทำงานแบบ ecosystem บนเว็บไซต์ของ FFC Thailand (https://firn.or.th/) ประกอบด้วยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่ภาครัฐ นักวิจัย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เช่น ระบบออนไลน์อำนวยความสะดวกในการขอจดแจ้ง ฐานข้อมูลของสารสำคัญและการกล่าวอ้าง ฐานข้อมูลสารโภชนาการ ฐานข้อมูลงานวิจัยในประเทศไทยและวิทยานิพนธ์ ฐานข้อมูลวิธีทดสอบสาร ฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสำคัญ ฐานข้อมูลหน่วยงานที่ใช้สัตว์ทดลอง ฐานข้อมูลหน่วยงานวิจัยทางคลินิก ฐานข้อมูลกฏข้อบังคับตามมาตรฐาน CODEX ฐานข้อมูล systematic researches และ clinical trials และฐานข้อมูลอาหาร FFC เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจรวมทั้งข้อมูลความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ เว็บไซต์จะประกอบด้วยเว็บเพจสำหรับผู้ประกอบการ นักวิจัย และผู้บริโภค ที่มีเนื้อหา/ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับแต่ละกลุ่ม และจะมีการกำหนดระดับการเข้าถึงข้อมูล ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถลงทะเบียนและเข้าสู่ขั้นตอนการยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อขอรับการอนุญาต FFC แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์นี้ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมทั้งมีการแจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการสามารถติดตามความก้าวหน้าของแต่ละขั้นตอนแบบออนไลน์ได้ ซึ่งคาดว่าระบบ FFC Thailand และการยื่นเอกสารแบบออนไลน์จะใช้งานได้ภายในสิ้นปี 2566
  ช่วงที่ 3 เป็นการเสวนาเรื่อง “แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารฟังก์ชันด้วยการวิจัยผ่านกลไกของ FFC Thailand”   ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ภญ.วิวรรณ ชมพืช เภสัชกรชำนาญการ กลุ่มทะเบียนผลิตภัณฑ์ กองผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  คุณศศิวิมล ทับแย้ม ผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสุขอนามัยพืช สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรแห่งชาติ (มกอช.)  และ น.สพ. ดร.กษิติ์เดช ธีรนิตยาธาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Morena Solutions จำกัด  โดยมีคุณกัลญาณี จันทรเจิด ทำหน้าที่ดำเนินรายการ  การเสวนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหารฟังก์ชัน

  คุณกัลญาณีได้เปิดประเด็น “ความท้าทายหรืออุปสรรคและปัญหาความยุ่งยาก (pain point) ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรเชิงหน้าที่ตลอดห่วงโซ่อุปทาน” ดร.กษิติ์เดชได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่พบคือ ในการขึ้นทะเบียนผลิตผลที่เป็นนวัตกรรม หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลได้แก่ กรมวิชาการเกษตรและ อย. ต้องการหลักฐานผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อยืนยันความปลอดภัยและประสิทธิผล ซึ่งผู้ประกอบการยังไม่มีศักยภาพและงบประมาณเพียงพอ การมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมทำงานกับผู้ประกอบการดังที่ FIRN กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ ทำให้สินค้าออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อีกประเด็นคือโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือ SME มีน้อยกว่าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ดังนั้นผู้ประกอบการขนาดเล็กจึงจำเป็นต้องหาผู้ร่วมทุน ดร.กษิติ์เดชยังกล่าวว่า “คน” เป็นเรื่องสำคัญ ทีมที่มีเป้าหมายเดียวกันจะทำงานได้ง่ายขึ้น การที่ FIRN เชิญ อย. และ มกอช. มาเสวนาร่วมกับผู้ประกอบการในวันนี้ ทำให้ทุกฝ่ายเห็นภาพพร้อมกัน ในทิศทางเดียวกัน ผู้ประกอบการเปรียบเสมือนทัพหน้าในการหาเงินเข้าประเทศ โดยมีหน่วยงานภาครัฐทำหน้าที่เป็นอาวุธ ช่วยสนับสนุนในการบุกตลาด “เงินทุน” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยของผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็ก แหล่งทุนต่างๆ จึงช่วยในการขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กทำงานวิจัยเชิงลึก เปิดโอกาสให้ทำงานร่วมกับนักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้ ทุกวันนี้สินค้านวัตกรรมซึ่งมีผลงานวิจัยสนับสนุนหลายรายการไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีการตลาดที่ไม่แข็งแรง หลายสินค้าลงทุนไปกับการโฆษณาซึ่งใช้งบประมาณมาก ผลิตภัณฑ์อาหารที่เป็นนวัตกรรมจากพืชสมุนไพร แมลง ผักและผลไม้ เป็นจุดแข็งของประเทศไทย มีงานวิจัยของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยหลายเรื่อง มีผลิตภัณฑ์ส่งออกหลายรายการ และมีบริษัทต่างประเทศมาร่วมลงทุนเยอะมาก บริษัท Morena Solutions จำกัดเป็น platform ที่คอยช่วยบริษัท startup ที่มีแนวคิดผลิตภัณฑ์นวัตกรรม แต่มีเงินลงทุนจำกัด  บริษัทฯ ให้การช่วยเหลือตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ตั้งแต่การเพาะปลูก การวิจัย การผลิต การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งเสริมการตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมีทีมงานที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ มีการร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนากับสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร ปศุสัตว์และสัตว์เลี้ยง ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดร.กษิติ์เดชได้ยกตัวอย่างงานของบริษัทฯ เช่นการปลูกพริกเพื่อทำสารสกัด มีการปรับปรุงสายพันธุ์พริกเพื่อกระตุ้นให้มีการสร้างสารแคปไซซิน (capsaicin) ในปริมาณสูงคือเพิ่มขึ้นอีก 20% ดังนั้นในพื้นที่เพาะปลูกเท่ากัน จำนวนต้นเท่าเดิม จะมีจำนวนผลพริกมากขึ้น และยังมีปริมาณแคปไซซินต่อผลมากขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานทางด้าน FFC

  จากปัญหาและอุปสรรคที่ผู้ประกอบการสะท้อนเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสินค้า ผู้ดำเนินการเสวนาได้สอบถามถึงบทบาทของ มกอช. ในการช่วยส่งเสริมธุรกิจสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูงหรือสินค้าเกษตรเชิงหน้าที่ ให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ คุณศศิวิมลในฐานะผู้แทนจากหน่วยงานที่เป็นต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานกล่าวว่า การส่งออกสินค้าเกษตรคิดมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 8% ของผลผลิตรวมในประเทศ (gross domestic product; GDP) รัฐบาลจึงมีนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้มากขึ้น ทั้งผลิตผลสดและสินค้าแปรรูป จากข้อมูลสินค้าอาหารส่งออกของไทยปี 2565 พบว่าผลไม้สดมีมูลค่าการส่งออกค่อนข้างสูง และอาหารในอนาคต (future food) ซึ่งรวมกลุ่มสินค้าส่วนผสมฟังก์ชัน (functional ingredient) มีอัตราขยายตัวเพิ่มขึ้น นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงให้ความสำคัญกับสินค้าดังกล่าว การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูงถูกกำหนดไว้ในแผนแม่บทภายใต้ยุทธ์ศาสตร์ชาติ “การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรสู่สินค้าเกตรและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง โดยยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย” กำหนดในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 หมุดหมายเลขที่ 1 “ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง” มาสู่นโยบายของกระทรวงเกษตรฯ “ตลาดนำการผลิต ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนาภาคเกษตรไทย” ที่ทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ ต้องรับไปดำเนินการ นอกจากนี้ ในการทำงานระดับกรม มกอช. และ อย. ในฐานะคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ มีการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) เป็นอีกหนึ่งนโยบายในการผลักดันอาหารมูลค่าสูงภายใต้ยุทธศาสตร์ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร (ยุทธศาสตร์ที่ 2 มกอช.เป็นผู้รับผิดชอบหลัก) มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษารูปแบบและกลไกการบริหารจัดการการกล่าวอ้างประสิทธิผลของสินค้าเกษตรและอาหารที่มีผลต่อสุขภาพ การทำงานร่วมกันระหว่าง มกอช. และ อย. ในการแก้ปัญหาโดยการเสนอเป็นนโยบายผ่านช่องทางของแต่ละหน่วยงานไปยังคณะกรรมการอาหารแห่งชาติซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการจัดประชุมปีละ 2 ครั้ง  จากคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานภาครัฐ มีการจัดตั้งคณะทำงานย่อยซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยมี ศ. ดร.ภาวิณีเป็นประธาน ช่วยกันให้ความเห็นและพิจารณาสินค้าเกษตรที่สามารถนำร่องไปสู่ FFC  โครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ได้แก่ โครงการยกระดับพืชสมุนไพรไทย เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและส่วนผสมฟังก์ชั่น (functional food and functional ingredient) ผู้รับผิดชอบหลักคือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันมาตรวิทยา และโครงการยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชันและส่วนผสมฟังก์ชัน ผู้รับผิดชอบหลักคือ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) และ อว.  สำหรับแผนแม่บทแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย เจ้าภาพหลักคือ อย.  ในขณะที่ มกอช. รับผิดชอบในส่วนของวัตถุดิบ จากแผนต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ถึงความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐในการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน  สำนักงาน มกอช. มีภาระกิจในการจัดทำมาตรฐานซึ่งกำหนดขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ใช้เป็นเกณฑ์ในการดำเนินงานต่างๆ ตลอดห่วงโซ่อาหารของสินค้าพืช ประมง และปศุศัตว์ เช่น เกณฑ์การเพาะปลูก (เกณฑ์ GAP เกณฑ์ Organic) เกณฑ์การเลี้ยงสัตว์ เกณฑ์การประมง เกณฑ์การผลิตสินค้า (เกณฑ์ GMP เกณฑ์ HACCP)  และมาตรฐานคุณภาพ/ความปลอดภัยของสินค้าชนิดต่างๆ รวมทั้งใช้เป็นเอกสารอ้างอิงในการเจรจาทางการค้าในระดับประเทศ ระดับอาเซียน และระดับโลก

  คุณกัลญาณี ผู้ดำเนินการเสวนาได้สอบถามถึงบทบาทของ อย. ในการสนับสนุนธุรกิจสินค้าเกษตรเชิงหน้าที่ในการขึ้นทะเบียนสินค้า โดยเฉพาะในกรณีความแตกต่างระหว่างผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ภญ.วิวรรณในฐานะผู้แทนจากกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งเป็นหน่วยงานกลางน้ำ ได้กล่าวถึงนิยามของสมุนไพรตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 หมายถึง “ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ ที่ใช้ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร” สำหรับผลิตภัณฑ์สมุนไพรกำหนดนิยามว่าเป็นยาจากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร  ยาจากสมุนไพรมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อการบำบัด บรรเทา และรักษาโรค ส่วนผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรอาจเป็นผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อสุขภาพหรือเวชสำอางค์สมุนไพร มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ปรับโครงสร้างการทำงานของร่างกาย ทำให้สภาพร่างกายดีขึ้น ความแตกต่างระหว่างอาหารกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรคือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรต้องมีสมุนไพรเป็นส่วนประกอบ มีการกำหนดปริมาณและขนาดวิธีการใช้เนื่องจากเป็นการรับประทานเพื่อบำบัด บรรเทาและรักษา และสิ่งสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพรคือมีการแสดงการกล่าวอ้างทางสุขภาพ การขออนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพรมี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) การจดแจ้ง ซึ่งกองผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้จัดทำ positive list ประกอบด้วยสูตร กรรมวิธีการผลิต ขนาดการบริโภคต่อวัน และคำแนะนำในการผลิตผลิตภัณฑ์ เช่น “กระเทียมชนิดเม็ด” มีการกำหนดการกล่าวอ้างปริมาณสารต่อวัน ซึ่งได้พิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิผลไว้ให้แล้ว ส่วนการควบคุมคุณภาพเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการเอง แล้วสิ่งที่มคุคต่อวัน และคำแนะนำในการร้าว ิเคราะหสมอาหารเชิงหน้าที่ิดปัลิตภันำเอกสารการควบคุมคุณภาพมาแสดง ช่องทางนี้เป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ สามารถยืนขอจดแจ้งได้ทางช่องทาง e-Submission  2) การแจ้งรายละเอียด ผู้ประกอบการมีการปรับเปลี่ยนสูตรจากสูตรตำรับจดแจ้ง แต่ไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และ 3) การขึ้นทะเบียน ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์ของตัวเอง (ชื่อผลิตภัณฑ์แตกต่างจากสูตรจดแจ้ง) มีสูตรตำรับของตัวเอง มีสมุนไพรที่ต้องการกล่าวอ้างนอกเหนือจากใน positive list ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ ประสิทธิผล และความปลอดภัย แสดงหลักฐานด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้จากการวิจัยทางคลินิกหรือการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ เมื่อผ่านการพิจารณาอนุญาตแล้ว ผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นจะได้รับเลขทะเบียน  นอกจากนี้ยังมีการควบคุมช่องทางการค้าผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ขายทั่วไปเช่นในร้านสะดวกซื้อ ขายเฉพาะสถานที่/ร้านที่มีใบอนุญาต และใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น สำหรับประเด็นการขออนุญาตกล่าวอ้างส่วนผสมอาหารฟังก์ชัน สามารถขอจดแจ้งได้ที่กองผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้หรือไม่ ภญ.วิวรรณกล่าวว่า ตามพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 หากเป็นสมุนไพรที่นำไปเป็นส่วนผสมไม่ต้องขึ้นขึ้นทะเบียน จะขึ้นทะเบียนเฉพาะเมื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรแล้วเท่านั้น ผู้ดำเนินรายการได้ถามประเด็น หากผู้ผลิตส่วนผสมสมุนไพรต้องการขอจดแจ้งเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้า ทางหน่วยงานสามารถรับรองได้หรือไม่ ภญ.วิวรรณกล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีโครงการให้การรับรองส่วนผสม แต่ในอนาคตอาจมีการดำเนินการ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีโครงการให้การรับรองสารสกัดจากสมุนไพรที่นำมาใช้ในยา ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ประเทศไทยมีการทำสารสกัดน้อยเนื่องจากปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพ ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวเสริมว่าความตั้งใจในการจัดทำระบบ FFC Thailand เกิดจากการมองเห็นโอกาสและศักยภาพของวัตถุดิบที่เป็นสินค้าเกษตรของไทยที่จะนำไปสู่ส่วนผสมฟังก์ชันได้ และสามารถสร้างมูลค่าและรายได้กลับมาสู่ประเทศและเกษตรกร ซึ่งหวังว่าการให้การรับรองสมุนไพรที่เป็นส่วนผสมฟังก์ชัน จะมีการดำเนินการในเร็ววัน

  ช่วงถาม-ตอบจากผู้ฟัง ศ. ดร.จินตนาภรณ์ วัฒนธร ได้ถามประเด็นการเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารสกัดเป็นส่วนผสมฟังก์ชัน หากผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้รับการพิสูจน์ความปลอดภัยและประสิทธิผลแล้ว จำเป็นต้องทำการวิจัยทางคลินิกเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์สูตรใหม่ที่ใช้ส่วนผสมฟังก์ชันชนิดเดียวกันอีกหรือไม่ หากโครงสร้างของสารสำคัญและ biological activity ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภญ.วิวรรณตอบว่า หากเปลี่ยนสูตรหรือรูปแบบผลิตภัณฑ์ แล้วพิสูจน์ได้ว่าไม่ทำให้การออกฤทธิ์ของสารเปลี่ยนไป และปริมาณสารสำคัญยังอยู่ในช่วงที่มีประสิทธิผล ก็ไม่ต้องทำการวิจัยทางคลินิกอีก ซึ่งเป็นคำตอบเดียวกันกับของ Dr. Koburi สำหรับประเด็นคำถามความแตกต่างระหว่างอาหารกับสมุนไพร ความแตกต่างระหว่างยาจากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร มีการอธิปรายกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลควรสร้างความเข้าใจให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published.