Food Innovation &
Regulation Network

l

สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง แนวทางการยกระดับนวัตกรรมและธุรกิจ Functional Ingredients

     เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2566 โครงการ Food Innovation & Regulation Network (FIRN) ภายใต้สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FoSTAT) โดยการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “แนวทางการยกระดับนวัตกรรมและธุรกิจ Functional Ingredients เพื่อผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและเชิงหน้าที่ของไทย” (“Innovation and Business Empowerment of Functional Ingredients for Health and Functional Products”) ในงาน Functional Ingredients R&D Matching from the Ground Up ณ ห้องประชุมจามจุรี บอลรูม โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการยกระดับผู้ประกอบการให้สามารถผลิตวัตถุดิบเพื่ออาหารเชิงฟังก์ชัน (functional foods) เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงมาตรฐานที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนการผลิตส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน (functional ingredients) ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  เพื่อเรียนรู้ระบบนิเวศทางธุรกิจหรือระบบสนับสนุนที่ FIRN และหน่วยงานต่างๆ พัฒนาขึ้น รวมทั้งฐานข้อมูลสำคัญ   นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น นักวิจัย ผู้ประกอบการ และหน่วยงานสนับสนุนทุน ได้สร้างเครือข่ายวิจัยและจับคู่วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต (R&D – business matching) นำไปสู่การจัดทำ business-academic project เพื่อขอทุนวิจัยต่อไป
    รศ. ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวเปิดการอบรมโดยมีใจความว่า การยกระดับนวัตกรรมและธุรกิจส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันของไทย เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เชิงสุขภาพและเชิงหน้าที่ เป็นภาระกิจสำคัญของ บพข. ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย   การเชื่อมโยงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข  และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  เป็นอีกหนึ่งภาระกิจของ บพข. ในการสร้างเครือข่ายการทำงาน  นำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจใหม่และผู้ประกอบการรายใหม่เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประเทศ   นอกจากนี้ บพข. ยังส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานอย่างเป็นระบบโดยการใช้องค์ความรู้บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อทำให้ธุรกิจมีคุณภาพและได้รับความเชื่อมั่นในระดับมาตรฐานสากล  ซึ่งระบบการกล่าวอ้างสำหรับอาหารฟังก์ชันของประเทศไทย หรือระบบ FFC Thailand จะช่วยผลักดันทำให้อาหารมีคุณค่าและมีมูลค่าสูง
   ช่วงที่ 1  ศ. ดร.ภาวิณี ชินะโชติ ที่ปรึกษา FoSTAT และหัวหน้าโครงการ FIRN บรรยายเรื่อง “ปัจจัยและระบบสู่ความสำเร็จ (Ecosystem) ของธุรกิจและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เชิงฟังก์ชั่นของไทย & Functional Food R&D Roadmap for Success” ประเทศไทยสูญเสียดุลการค้าในการซื้อสารสกัดจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันในผลิตภัณฑ์อาหาร ถึงแม้จะทำให้เกิดธุรกิจปลายทางคือการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันที่ทำรายได้เข้าประเทศ แต่ผู้ประกอบการต้นน้ำคือผู้ปลูกและผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศยังไม่ได้ประโยชน์ เนื่องจากไม่ได้มีการนำวัตถุดิบไปผลิตเป็นส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน จึงเป็นที่มาของระบบ FFC Thailand ซึ่งเป็นระบบการจัดการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ โดยมี อย. และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ทำหน้าที่เป็นเลขานุการร่วมกัน จากข้อมูลทางการตลาดพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2011 – 2017 ธุรกิจอาหารฟังก์ชันของประเทศไทยมีการเติบโตประมาณ 11% ต่อปี (จาก 9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในขณะที่ธุรกิจส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันมีมูลค่าและอัตราการเติบโตน้อยมาก ดังนั้นธุรกิจส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนให้เกิดการนำไปใช้ และธุรกิจนี้ยังตอบโมเดลเศรษฐกิจ BCG (bioeconomy, circular economy, green economy) คือนำทุกส่วนของพืชมาใช้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้ผู้ประกอบการต้นน้ำมีรายได้มากขึ้น สิ่งสำคัญที่ต้องดำเนินการในการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพด้านส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน อาหารเชิงฟังก์ชัน และโภชนเภสัช (nutraceuticals)/เวชสำอาง คือ การพัฒนาวัตถุดิบให้เป็นแหล่งของสารสำคัญที่ได้มาตรฐานระดับนานาชาติ เนื่องจากประเทศไทยเป็นแหล่งของวัตถุดิบ (พืช สมุนไพร ผลไม้) ที่มีศักยภาพหลากหลายชนิด  การพัฒนาธุรกิจส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันที่ส่งทอดรายได้สู่เกษตรต้นน้ำ และการพัฒนาทั้งระบบอาหารเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่จับต้องได้จริง เช่น การศึกษา วิจัยและพัฒนาตลอดห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันและอาหารฟังก์ชันที่มีความเป็นไปได้ในการผลิต ดังนั้นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย (paradigm shift) จะเกิดขึ้นได้โดยการทำมิติใหม่ของการทำเกษตรมูลค่าสูง เมื่อเกษตรกรมีรายได้มากขึ้น ลูกหลานก็ไม่จำเป็นต้องเข้ามาหางานทำในเมือง และสามารถทำธุรกิจของตนเองได้โดยเป็น supplier ในระดับชุมชนให้กับบริษัทขนาดใหญ่ที่จะซื้อวัตถุดิบเหล่านี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์สุดท้าย จะเห็นได้ว่าในการผลิตส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน ต้นน้ำมีความสำคัญมาก ทำอย่างไรถึงจะให้ได้วัตถุดิบ (ผลิตผลทางการเกษตร) ที่มีสารสำคัญ มีความปลอดภัยและได้มาตรฐาน ต้องมีหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องมาตรฐานและหน่วยงานที่ตรวจวิเคราะห์สารสำคัญ ทำให้เกิดธุรกิจส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันจำนวนมาก งานวิจัยเกี่ยวกับส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันในประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับห้องปฏิบัติการและระดับสัตว์ทดลอง ยังขาดการวิจัยทางคลินิก (clinical trial) อย่างไรก็ตาม การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic review) สามารถนำมาใช้เพื่อยืนยันคุณสมบัติทางสุขภาพของสาระสำคัญได้
   ศ. ดร.ภาวิณี ได้แนะนำแนวทางการคัดกรองเพื่อทำ priority list ของวัตถุดิบและผลิตผลการเกษตรเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงหน้าที่ ดังนี้ 1) มีผลงานวิจัยคุณสมบัติเชิงหน้าที่ในระดับของผลิตภัณฑ์ที่สามารถยืนยันได้ทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้หลักฐานทางคลินิก หรือ systematic review หรือยืนยันปริมาณสาร 2) มีแนวทางและความเป็นไปได้ในการพัฒนาศักยภาพการผลิตตลอดห่วงโซ่ เช่น การปลูก การแปรรูปเบื้องต้น การสกัด และการควบคุมอายุการเก็บรักษา 3) มีมาตรฐานหรือสามารถสร้างระบบมาตรฐาน และสามารถยืนยันปริมาณสารสำคัญและความปลอดภัย เพื่อการทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ 4) มีผู้ประกอบการที่ยืนยันว่ามีโอกาสทางธุรกิจ และร่วมลงทุนหรือลงทุนเองมาบ้างแล้ว 5) มีราคาที่แข่งขันได้ในตลาดเป้าหมาย และขนาดธุรกิจอยู่ในระดับที่คุ้มค่ากับการลงทุน 6) มีประวัติการรับประทาน มีการเผยแพร่คุณสมบัติสารสำคัญที่อาจจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีฐานข้อมูลหรือประวัติในหนังสืออาหารท้องถิ่นไทยและในต่างประเทศ และ 7) มีความนิยมในกลุ่มผู้บริโภค หรือมีโอกาสสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภค พร้อมทั้งยกตัวอย่างโมเดลการพัฒนาขมิ้นชันพันธุ์แดงสยาม บ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโมเดลการพัฒนาข้าวมีสีไทยเชิงหน้าที่ สำหรับแผนที่นำทาง (roadmap) ของการผลิตส่วนประกอบเชิงฟังก์ชัน ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนคือ การพัฒนาระบบต้นน้ำ (เกษตร) การศึกษา (identify) ปริมาณสารสำคัญ  การสกัดสารสำคัญ/การทำให้บริสุทธิ์ และการพัฒนาธุรกิจเกษตร (agricultural business development) ในการขออนุญาตกล่าวอ้างทางสุขภาพจาก อย. (FDA health claims) ต้องแสดงหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ด้านความปลอดภัยและด้านประสิทธิผลของสารสำคัญ ทำให้ใช้ระยะเวลานานในการรวบรวมหลักฐานก่อนการยื่นขออนุญาต ดังนั้นระบบ FFC Thailand ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนที่มีการทำงานแบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) เพื่อไปสู่การยื่นขอรับรองการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างที่ยังไม่ถึงระดับการกล่าวอ้างทางสุขภาพของ อย. จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้รับการอนุญาตได้ง่ายขึ้น บนเว็บไซต์ของ FIRN (https://firn.or.th/) ประกอบด้วยข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์แก่นักวิจัย ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยแบ่งเป็น 3 หมวดคือ หมวด basic knowledge เป็นความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับอาหารฟังก์ชันและการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ ซึ่งมีทั้งหลักสูตรเรียนออนไลน์และหนังสือ  หมวด health claims know-how ประกอบด้วยฐานข้อมูล systematic researches และ clinical trials รวมทั้งข้อมูล positive list ของ functional bioactive compounds และหมวด databases ซึ่งจะมีฐานข้อมูลวิธีทดสอบสารสำคัญ ฐานข้อมูลห้องปฏิบัติการวิเคราะห์สารสำคัญ และฐานข้อมูลกฏข้อบังคับตามมาตรฐานสากล
   ช่วงที่ 2 เป็นการบรรยายหัวข้อ “อุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันของไทยอยู่ตรงไหนของโลก เป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อน” โดย คุณจีระศักดิ์ คำสุริย์ ผู้จัดการแผนกวิจัยอุตสาหกรรมและกลยุทธ์ สถาบันอาหาร  ธุรกิจอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันสามารถจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือการจำแนกตามชนิดสารสำคัญ (by type) เช่น วิตามิน แร่ธาตุ การจำแนกตามวัตถุประสงค์การใช้งาน (by purpose) เช่น โภชนาการสำหรับนักกีฬา  การควบคุมน้ำหนัก และการจำแนกตามกลุ่มผู้ใช้ (by application) เช่น เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์นม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของประเทศไทยมีการขยายตัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก และส่วนแบ่งในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นประเทศไทยจำเป็นต้องปรับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้มีอุตสาหกรรมอาหารชนิดใหม่ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม สารประกอบเชิงฟังก์ชันจึงเป็นตัวขับเคลื่อนที่มีความสำคัญ โดยได้ถูกระบุให้เป็นหนึ่งในสินค้าอนาคตของผลิตภัณฑ์เป้าหมายในแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2562 – 2570) ของกระทรวงอุตสาหกรรม ทิศทางอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสารสกัดจากพืช คาดว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 – 2573 จะมีการขยายตัวประมาณ 9.2% ต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2573 จะมีมูลค่าถึง 22.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดอาหารฟังก์ชัน ได้แก่ การตระหนักถึงสุขภาพของผู้บริโภค อุบัติการณ์ที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การเพิ่มจำนวนของผู้ออกกำลังกาย การผ่อนคลายและการเปลี่ยนแปลงกฏระเบียบในภาคอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ความต้องการของผู้บริโภคสำหรับผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และการลงทุน ซึ่งจะทำให้ตลาดของส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันมีการเติบโตตามไปด้วย ปัจจุบันธุรกิจกลุ่มสินค้าส่วนผสมอาหารและกลุ่มสินค้าเสริมอาหารมีอัตรากำไรขั้นต้น (gross profit margin; GPM) ประมาณ 40-50% หากประเทศไทยไม่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชัน จะทำให้ประเทศไทยสูญเงินตราจากการนำเข้า ทิ้งโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบภาคเกษตรโดยเฉพาะพืชสมุนไพรที่มีศักยภาพ เกิดปัญหาคอขวดที่ขัดขวางการพัฒนาอาหารอนาคต โดยส่วนหนึ่งของรายได้จากการขายสินค้าถูกนำไปซื้อสารสกัดจากต่างประเทศ การมีอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันในประเทศจะช่วยลดการนำเข้าสารสกัดเหล่านั้นได้ สินค้าที่ประเทศไทยผลิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ ทำให้ต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง อุตสาหรรมอาหารฟังก์ชันจะเกิดได้ง่ายขึ้น หากมีอุตสาหกรรมส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันที่แข็งแรง
   คุณจีระศักดิ์ยังได้กล่าวถึงหลักการที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชัน ได้แก่ 1) การกำจัดส่วนประกอบที่ระบุได้ว่าก่อให้เกิดผลลบเมื่อบริโภค (eliminating a component) 2) การแทนที่ส่วนประกอบที่มักมีการบริโภคมากเกินไป (replacing a component) 3) การเพิ่มความสามารถในการดูดซึมหรือความคงตัวของส่วนประกอบ (increasing bioavailability or stability of a component) 4) การเพิ่มความเข้มข้นของส่วนประกอบที่มีอยู่ตามธรรมชาติในผลิตภัณฑ์อาหาร (increasing the concentration of a component) และ 5) การเพิ่มส่วนประกอบที่ปกติไม่มีอยู่ในอาหาร (adding a component that is not normally present in most foods)  อย่างไรก็ตาม กระบวนการและผลลัพธ์จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านั้นรวมทั้งผลลัพธ์ทางสุขภาพจะต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ สำหรับบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมส่วนประกอบเชิงฟังก์ชันในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้ผลิต กลุ่ม supplier (บริษัทขายเคมีภัณฑ์) และกลุ่มผู้ใช้ ไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าอาหารอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก (+22,441 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่ขาดดุลการค้าสารประกอบเชิงฟังก์ชันเป็นอันดับที่ 5 ของโลก (-810 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)   ประเทศที่เกินดุลการค้าสารประกอบเชิงฟังก์ชันเป็นอันดับที่ 1 ของโลกได้แก่จีน คิดเป็นมูลค่า 5,386 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   สิงคโปร์สามารถพลิกเกินดุลการค้าอาหารตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ภายหลังการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการส่งออกสารประกอบเชิงฟังก์ชันเป็นส่วนหนึ่งของการเกินดุล  เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มอุตสาหกรรมจากทิศทางการลงทุนของบริษัทผู้นำในตลาดโลก พบว่า เทคโนโลยีการผลิตจะเน้นไปที่การใช้เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการสกัด และการหมัก   สำหรับผลิตภัณฑ์ให้ความสำคัญกับเอนไซม์ โพรไบโอติกส์ สารสกัดจากพืช  สารสกัดจากพืชตามตำรับอายุรเวท โอเมก้า 3    plant based  และ clean label    ในส่วนของพื้นที่เป้าหมาย บริษัทเลือกลงทุนในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา  ตามมาด้วยการลงทุนในแถบเอเชีย-แปซิฟิก และประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกา
 
   ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันของประเทศไทย ได้แก่ วัตถุดิบส่วนใหญ่(ประมาณ 50%) ไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์กำหนด ส่งผลให้สารสำคัญที่สกัดได้มีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ต้นทุนการผลิตสูง ทำให้แข่งขันได้ยากกับสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากจีนและอินเดีย ขาดข้อมูลวิชาการด้านสุขภาพและความปลอดภัย ทำให้ไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อขอรับรองการกล่าวอ้างทางสุขภาพได้  ขาดความพร้อมด้านข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณภาพและลักษณะของผลิตภัณฑ์ มีผลให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่แตกต่างจากสินค้าที่มีอยู่ในตลาด  และผู้ใช้งานมีความเชื่อมั่นในสารสกัด/สารสำคัญของต่างประเทศมากกว่าของไทย ดังนั้นแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสารประกอบเชิงฟังก์ชันเพื่อแก้ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ 1) กลยุทธ์กลไกการวิจัยพัฒนาเพิ่มศักยภาพวัตถุดิบและการสกัด โดยการสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ และการเพิ่มศักยภาพโรงงานสกัดสมุนไพร  2) กลยุทธ์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทดสอบและทดลอง การอำนวยความสะดวกการขึ้นทะเบียนซึ่ง FIRN กำลังดำเนินการอยู่ รวมทั้งส่งเสริมให้มีฐานข้อมูลวิชาการด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการบริโภค และมาตรการดึงดูดการลงทุนเชิงรุก และ 3) กลยุทธ์การพัฒนาบริการสนับสนุน ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุน technical service provider  มาตรการดึงดูด talent และสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตแบบ in-organic growth (การเติบโตจากภายนอก เป็นแนวคิดทำธุรกิจผ่านกระบวนการควบรวมบริษัทหรือซื้อกิจการเพื่อขยายฐานการทำธุรกิจขององค์กร)

 

 

 

Leave a Reply

Your email address will not be published.