ต้นแบบ FFC จากประเทศญี่ปุ่น
FIRN ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการรวบรวมและสัมภาษณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พบว่า ประเภทของการกล่าวอ้างทางสุขภาพแบบ Food with Function Claim หรือ FFC โดยอ้างอิงต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อใช้ระบบนี้ในการสนับสนุนการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพอาหารเชิงหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบของ FFC จากประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไรและมีตัวอย่างของความสำเร็จ (Success story) ในด้านการตลาดอย่างไร สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้
รูปแบบและกลไกการบริหารจัดการของ FFC Japan
ในประเทศญี่ปุ่นไม่มีคำจำกัดความในเชิงกฎหมายสำหรับ “อาหารเสริมสุขภาพ” หรือ “อาหารเพื่อสุขภาพ”แต่ในเชิงการระบุสรรพคุณ อาจแบ่งอาหารเพื่อสุขภาพออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ Food with Health Claims (FHC) หรืออาหารที่สามารถอ้างเรื่องสุขภาพได้ และ อาหารทั่วไป ซึ่งได้แก่ อาหารทั่วไปที่ดีต่อสุขภาพ ในปัจจุบัน FHC หรืออาหารที่สามารถอ้างเรื่องสุขภาพได้นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
- Foods for Specified Health Uses (FOSHU) หรือ อาหารจำเพาะเพื่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ได้ผ่านการตรวจสอบด้านผลการออกฤทธิ์ ซึ่งให้ผลจำเพาะทางสรีรวิทยาหรือทางสุขภาพรวมถึงด้านความปลอดภัย และจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นรายผลิตภัณฑ์ก่อนจึงจะสามารถระบุสรรพคุณและประทับตราสัญลักษณ์ “Foods for Specified Health Uses” บนฉลากได้
- Foods with Nutrient Function Claims (FNFC) หรือ อาหารที่ให้ผลทางโภชนาการ เป็นอาหารซึ่งมีองค์ประกอบทางโภชนาการ เช่น มีวิตามินหรือแร่ธาตุอยู่ในระดับมาตรฐาน (ซึ่งกำหนดระดับต่ำสุดและสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน) บนฉลากจะต้องระบุปริมาณขององค์ประกอบนั้น ๆ และคุณประโยชน์ของวิตามินหรือแร่ธาตุนั้น ๆ ตามวิธีการระบุที่กำหนด รวมทั้งข้อควรระวังในการบริโภค (ถ้ามี) และหากได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของการระบุฉลากตามที่กำหนดแล้วก็สามารถผลิตจำหน่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือจดแจ้งเพื่อการจำหน่ายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่น ๆ สำหรับสินค้าอาหารทั่วไป ทั้งนี้ สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพประเภทนี้จะไม่สามารถระบุสรรพคุณในลักษณะ อาทิ เช่น “ช่วยในการลดน้ำหนัก” หรือ “ช่วยผ่อนคลายสายตา” ฯลฯ ได้ ยกเว้นสรรพคุณในเชิงโภชนาการของสารอาหารที่มีอยู่ในสินค้านั้น
- Foods with Function Claims (FFC) หรือ อาหารที่อ้างอิงสรรพคุณ เป็นประเภทใหม่สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2015 ก่อนหน้านั้นสินค้าอาหารที่สามารถระบุสรรพคุณเพื่อสุขภาพได้ มีเพียง 2 ประเภทข้างต้น ซึ่งต้องผ่านการอนุญาตจากภาครัฐหรือจะต้องมีองค์ประกอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตขนาดกลางหรือเล็กในการผลิต จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ผ่อนคลายอุปสรรคดังกล่าวโดยการเพิ่มประเภท FFC ซึ่งสามารถระบุสรรพคุณเพื่อสุขภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการประเมินและอนุญาตเป็นรายผลิตภัณฑ์จากภาครัฐ แต่เพียงทำการจดแจ้งกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีข้อมูลหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์แสดงความปลอดภัยและผลต่อสุขภาพ และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและการระบุสรรพคุณนั้น ๆ ทั้งนี้ หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ต้องได้จากการทดสอบทางคลินิก (Clinical Trails) หรือจากรายงานผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) ของสารสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ
บริษัท Fuji Keizai ได้ทำการศึกษาขนาดตลาดสินค้าอาหาร FHC (ภาพที่ 20) พบว่าในปี ค.ศ. 2018 ตลาดสินค้าอาหาร FHC มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 7.11 แสนล้านเยน (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปี ค.ศ. 2017 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่
- ตลาดอาหาร FOSHU ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 3.90 แสนล้านเยน (1.1 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4
- ตลาดอาหาร FNFC เติบโตอยู่ในระดับคงที่ คิดเป็น 1.24 แสนล้านเยน (3.6 หมื่นล้านบาท) และ
- ตลาดอาหาร FFC มีแนวโน้มจะเจริญเติบโตมากขึ้นไป มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1.97 แสนล้านเยน (5.7 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1
ภาพที่ 1 มูลค่าการตลาดของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 – 2018 โดยเปรียบเทียบขนาดและการเติบโตทางธุรกิจของอาหารสุขภาพ 3 รูปแบบ
ที่มา: บริษัท Fuji Keizai, 2561
สิ่งที่น่าสนใจ คือระบบ FFC นี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น เอื้อต่อธุรกิจ SMEs และยังคงคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ในขณะที่ FOSHU และ FNFC ต้องผ่าน อย. และมีการทดลองทางคลินิกที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และลงทุนสูง ทําให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผลิตและจําหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพดังกล่าว
ประวัติระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1991 ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการนำระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพมาใช้ โดยใช้ชื่อว่า ระบบ FOSHU ต่อมาในปี ค.ศ 2001 ได้เพิ่มระบบการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารมาเข้ามา ได้แก่ FNFC จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2015 จึงได้มีการเพิ่มระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างหน้าที่ หรือ FFC ขึ้นมาอีกหนึ่งระบบ ดังนั้น ในปัจจุบันระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ ซึ่งแต่ละระบบมีลักษณะ เกณฑ์การประเมิน และเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป
ในปี ค.ศ. 2002 หน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณะสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม (Ministry of Health, Labour and Welfare; MHLW) ดูแลการกล่าวอ้างทางสุขภาพในระบบ FOSHU และ FNFC ภายใต้กฎหมาย Health Promotion Law ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 ประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Affairs Agency; CAA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค สร้างความมั่นใจและให้ความรู้ผู้บริโภคต่อการเลือกซื้อสินค้า ทำให้ CAA ได้รับหน้าที่ในการควบคุมดูแลการกล่าวอ้างทางสุขภาพมาจาก MHLW
การควบคุมดูแลด้านการกล่าวอ้างทางสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น มีเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับฉลากของผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1. Food Sanitation Law 2. Japanese Agriculture Standard (JAS) และ 3. Health promotion Law ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้เกิดการพิจารณาออกกฎหมายใหม่เพื่อใช้ในการกำกับดูแล ภายใต้ชื่อ “Food Labeling Act” ในปี ค.ศ. 2013 เพื่อกำกับดูแลอาหารที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ซึ่งระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่นนี้ เป็นที่กล่าวขานว่าเป็นระบบที่เข้าใจง่าย มีเกณฑ์การประเมินชัดเจนกว่าระบบของ อย. ประเทศใดในโลก
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพระบบใหม่ ได้แก่ FFC ซึ่งเป็นระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพที่เริ่มใช้เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2015 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพนอกเหนือจากระบบเดิม ที่มีขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มงวด ใช้เวลาในการขออนุญาตนาน และเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
ระบบ FFC เป็นอาหารที่มีคุณสมบัติหรือทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เป็นอาหารที่ช่วยดำรงหรือสร้างเสริมสุขภาพ แต่มีใช้มีไว้เพื่อบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค ใช้ในบุคคลปกติทั่วไป แต่ไม่รวมผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หญิงมีครรภ์ (รวมถึงวางแผนตั้งครรภ์) และหญิงให้นมบุตร การขออนุญาตในระบบ FFC ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยื่นเอกสารแจ้งต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก่อนออกวางจำหน่าย 60 วัน โดยเอกสารที่ยื่นจำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันถึงผลดีต่อสุขภาพตามที่กล่าวอ้างและความปลอดภัยต่อการบริโภค ข้อมูลที่ผู้ประกอบการยื่นขอผลิตภัณฑ์ FFC จะถูกนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ CAA (ในส่วนที่ไม่ก้าวล่วงต่อทรัพย์สินทางปัญญา) และ CAA จะมีการติดตามดูแลหลังจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
หลักเกณฑ์ของ FFC มีความผ่อนคลายระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพในระบบ FOSHU และ FNFC เป็นอย่างมาก โดยหลังจากการประกาศใช้ระบบ FFC ในปี ค.ศ. 2015 ได้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารให้ความสนใจอย่างมาก จนในปี ค.ศ. 2020 มีอาหารมากกว่า 3,500 ชนิด (8 ในนั้นเป็นอาหารทำสด) ได้ถูกวางตลาดด้วย ฉลาก FFC ในขณะเดียวกัน เพื่อความชัดเจนในคุณสมบัติพิเศษของผลิตผลทางการการเกษตร National Agriculture and Food Research Organization หรือ NARO (อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร) ได้ดำเนินโครงการวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร และแสดงถึงผลเชิงสุขภาพได้ เช่นด้านการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ด้วยส้มแมนดารินสายพันธุ์ Satsuma ที่มี β-cryptoxanthin ในปริมาณสูง และการลดภูมิแพ้ของชาสายพันธุ์ Bennifuki ทีมีสาร O-methylated catechin ในปริมาณสูง อาหารเหล่านี้ได้ถูกจัดว่าได้สถานะ FFC นอกจากนี้ NARO ได้ขยายความและสรุปคุณสมบัติเชิงสุขภาพของอาหารเชิงหน้าที่อีกหลายชนิด เช่น β-glucan ในข้าวบาร์เล่ย์ β-conglycinin ในถั่วเหลือง และ Quercetin ในหัวหอมใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึง Bento หรืออาหารกล่องญี่ปุ่น (ทำสด) ด้วย
กล่าวได้ว่าระบบ FFC คือ ระบบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารที่มีปริมาณสารสำคัญในระดับที่ให้ผลทางสรีระต่อร่างกาย เกิดประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานที่น่าเชื่อถือของประเทศญี่ปุ่น ผู้ผลิตอาหารสามารถขอการรับรองและติดตราสัญลักษณ์ FFC บนฉลากอาหารที่ผ่านการประเมินแล้ว ซึ่งเป็นทางเลือกในการอนุญาตให้กล่าวอ้างทางสุขภาพประเภทหนึ่งที่เหมาะกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายเล็ก FFC สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับวัตถุดิบอาหารในท้องถิ่นจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับด้านคุณภาพและมูลค่าของสินค้าเกษตรและอาหารได้
มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ FFC Japan เพิ่มขึ้นจาก 60 พันล้านเยน เป็น 250 พันล้านเยน ใน 5 ปี (ภาพที่ 21 และ 22) และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการส่งเข้าขออนุญาตเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลิตผลการเกษตรสดที่ได้รับอนุญาต FFC 74 ชนิด อาหารและอื่น ๆ รวม มากกว่า 3,500 ผลิตภัณฑ์
ภาพที่ 2 มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ FFC Japan เพิ่มขึ้นจาก 60 พันล้านเยน เป็น 250 พันล้านเยน ใน 5 ปี หลังจากเริ่มโครงการ
ที่มา: CAA Database, 2019
ภาพที่ 3 มูลค่าผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตในระบบ FOSHU และ FFC Japan โดยระบบ FFC เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เร็วกว่าในช่วงเวลาอันสั้น (แกน Y หน่วยพันล้านเยน)
ที่มา: CAA Database, 2019
การทำงานของระบบ FFC หลังจากที่ MHLW ได้ตั้งเกณฑ์การทำงานเรียบร้อยแล้ว ระบบ FFC ถูกส่งมอบให้ CAA ซึ่งเป็นผู้จัดการกระบวนการยื่นขอจดแจ้งและจัดการการประเมินเพื่อขึ้นทะเบียน FFC และ NARO เป็นหน่วยวิจัยทางการเกษตรที่ได้ทำงานวิจัยเพื่อใช้ขออนุญาตตามแนวทางการทำงานของ FFC ดังแสดงรูปแบบการทำงานตามภาพที่ 23 ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบ FFC Japan มีข้อกำหนดที่เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การกล่าวอ้างทางสุขภาพของไทย ในการประเมินความปลอดภัย และ Totality of Evidence ของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ ทั้งนี้ระบบ FFC จะครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายกว่า คือรวมถึงผลิตผลทางการเกษตรและอาหารปรุงสด และมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า โดยสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ ดังนี้
- ต้องมีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของอาหาร (Safety Evaluation)
- เน้นการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ของสารออกฤทธิ์/สารอาหาร แต่ไม่มีการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค (Disease Risk Reduction Claims)
- เอกสารและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพเป็นรูปแบบของ Randomized Controlled Trial (RCT) ที่เป็น Well-designed Human Clinical Trial ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เชื่อถือได้ หรือมี Systematic Review หรือ Meta-analysis
- มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะรวมหรือตัดงานวิจัย โดยใช้เกณฑ์ของ PICO (Population, Intervention, Control, and Outcomes) Framework การวิเคราะห์ทางสถิติ Level of Confidence 95%, Indicator, Moderator, มีตัวอย่างการขออนุญาตที่ชัดเจน เช่น แนวทางการเขียนบทคัดย่อ การขออนุญาตต้องมี Specifications ของผลิตภัณฑ์ และการตรวจวิเคราะห์แนบมาด้วยพร้อมการแสดงฉลาก
ภาพที่ 4 โครงสร้างการทำงานของระบบ FFC Japan
ที่มา: FIRN by FoSTAT, 2564; CAA, 2564 และ NARO, 2564
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรูปแบบความสําเร็จของประเทศญี่ปุ่นที่ได้สนับสนุนให้ธุรกิจอาหาร SMEs สามารถก้าวเข้าสู่การผลิตอาหารมูลค่าสูงและกล่าวอ้างได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหารของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รูปแบบดังกล่าวน่าจะนํามาประยุกต์ใช้กับรูปแบบของประเทศไทยโดยมีเป้าหมายเดียวกันก็คือเอื้อต่อธุรกิจอาหารระดับ SMEs ที่จะได้รับประโยชน์จากการออกแบบการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบโดยภาครัฐ ดังนี้
- ผู้ประกอบการขนาด SMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการขออนุญาตกล่าวอ้างเชิงสุขภาพได้ โดยลงทุนไม่สูงมาก ภาครัฐสามารถอํานวยความสะดวกให้การอนุญาตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
- เกษตรกร สามารถขายสินค้าเกษตรในราคาสูงขึ้น เกิดการพัฒนาสร้างอาชีพใหม่ ต่อยอดเข้าสู่อาหารมูลค่าสูงได้
- ผู้บริโภค ได้รับความรู้ ในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ สามารถสืบค้นข้อมูลการวิจัยในส่วนที่ไม่เป็นการละเมิดถึงทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิตที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนข้อความการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ หากมีการหลอกลวงมีระบบเพิกถอนการอนุญาต
โดยแต่ละผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างล้วนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องเกี่ยวข้องกับการปลูก การแปรรูป การผลิต การควบคุมดูแล และการบริโภค ซึ่งจะเป็นการกระจายหน้าที่และความรับผิดชอบในรูปแบบที่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation)
การนำระบบ FFC หรือ Food with Function Claim มาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบ FFC Thailand สามารถเป็นระบบหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่เกี่ยวโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามทุกข้อของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อนการพัฒนาสร้างระบบการผลิตสมัยใหม่ การควบคุมคุณภาพความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับนานาชาติ และกระบวนการเกณฑ์ขั้นตอนการยืนยันความปลอดภัยและขออนุญาตการกล่าวอ้างทางสุขภาพอย่างมีหลักการทางวิชาการที่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการส่งเสริม สร้างมูลค่าของอาหารที่พัฒนาอย่างดีแล้ว เพิ่มจากงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม โปร่งใส รวดเร็วและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ระบบ FFC Thailand อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพิจารณาผลิตภัณฑ์อาหารตำหรับท้องถิ่นบางชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบทางสรีระเชิงสุขภาพของมนุษย์ ทั้งยังสามารถขยายงานวิจัยไปสู่การประเมินพืชผัก ผลไม้ทานสด ที่ผ่านการพิสูจน์ตามมาตรฐานความปลอดภัยและผลต่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสสำหรับนักวิจัยเกษตรสมัยใหม่และธุรกิจเกษตรแบบใหม่ รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณค่าทางสุขภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรเชิงหน้าที่ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมระดับต้นน้ำให้ได้รายได้สูงขึ้น
ระบบ FFC Japan เป็นอย่างไร
- พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารโดยทั่วไปสามารถยื่นขออนุญาต FFC Japan ได้ ยกเว้นในบางกรณีที่ไม่สามารถยื่นขอ FFC Japan ได้ เช่น
- ผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกลุ่ม (ไม่ใช้สำหรับบุคคลปกติทั่วไป) เช่น สำหรับผู้ป่วย สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สามารถระบุชนิดของสารสำคัญได้
- ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสำคัญใดๆ ที่เป็นสารอาหาร (nutrient) ตามที่ระบุโดย MHLW (Ministry of Health, Labour and Welfare)
- เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- อาหารที่ทำให้เกิดการได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินความจำเป็น (เช่น ไขมัน กรดไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล คาร์โบไฮเดรต (เฉพาะ mono-and disaccharides ที่ไม่ใช่น้ำตาลแอลกอฮอล์) และโซเดียม)
- ยื่นข้อมูลด้านความปลอดภัย (Product safety)
- ยื่นข้อมูลด้านความปลอดภัยที่มี เช่น ประวัติการบริโภค ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากฐานข้อมูล ข้อมูลจากการวิเคราะห์ความปลอดภัยของสารสำคัญหรือผลิตภัณฑ์
- หากมีอันตรกิริยาของสารสำคัญ จะต้องมีข้อมูลที่สามารถชี้แจงได้
- ยื่นข้อมูลของระบบการผลิต การปลูก และการควบคุมคุณภาพ
- ยื่นข้อมูลของระบบของการจัดเก็บรวบรวมรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทางสุขภาพหลังรับประทาน (Adverse health effect)
- ยื่นข้อมูลของการกล่าวอ้างทางสุขภาพ โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ยื่น อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
- ผลการทดสอบในมนุษย์ (Clinical trial) ของผลิตภัณฑ์สุดท้าย
- การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic literature review) ของผลิตภัณฑ์สุดท้าย หรือ สารสำคัญ
- มีข้อมูลการแสดงฉลากอย่างเหมาะสม
เมื่อผู้ประกอบการได้ยื่นหลักฐานครบถ้วนแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารแล้ว จะได้รับเลขจดแจ้ง (Notification number) ของ FFC Japan และสามารถวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก FFC Japan ได้
สามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่องระบบและขั้นตอนในการยื่นขอ FFC Japan ได้ที่
- การแสดงข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ (ข้อมูลต่างๆที่แสดง เช่น สรรพคุณตามหลักวิทยาศาสตร์ของสารสำคัญเชิงหน้าที่และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง ปริมาณที่แนะนำในการบริโภคต่อวัน ปริมาณสารสำคัญเชิงหน้าที่ต่อปริมาณที่แนะนำการบริโภคต่อวัน ชื่อสารสำคัญเชิงหน้าที่ ปริมาณที่ผสมอยู่ วิธีการเก็บรักษา วิธีการบริโภค ข้อความระวังในการบริโภค เลขจดแจ้ง ข้อมูลการติดต่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น)
- การเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ จะมีการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์กรมคุ้มครองผู้บริโภค (CAA) การเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของผู้ยื่น
ตัวอย่างข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพรูปแบบ FFC เช่น
- The food contains β-cryptoxanthin, which reportedly maintains bone health by facilitating bone metabolism.
- The food contains apple procyanidin, which reportedly reduces visceral fat.
- The food contains lutein, which reportedly increases retinal pigment that protects the eyes from light stimulation.
- The food contains GABA, which reportedly reduces high-normal blood pressure.
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ FFC Japan ได้ที่