Food Innovation &
Regulation Network

l

ต้นแบบ FFC จากประเทศญี่ปุ่น

FIRN ได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลจากการรวบรวมและสัมภาษณ์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พบว่า ประเภทของการกล่าวอ้างทางสุขภาพแบบ Food with Function Claim หรือ FFC โดยอ้างอิงต้นแบบของประเทศญี่ปุ่น น่าจะนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย เพื่อใช้ระบบนี้ในการสนับสนุนการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพอาหารเชิงหน้าที่ของผลิตภัณฑ์ได้ อย่างไรก็ตาม รูปแบบของ FFC จากประเทศญี่ปุ่นเป็นอย่างไรและมีตัวอย่างของความสำเร็จ (Success story) ในด้านการตลาดอย่างไร สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ดังต่อไปนี้

รูปแบบและกลไกการบริหารจัดการของ FFC Japan

ในประเทศญี่ปุ่นไม่มีคำจำกัดความในเชิงกฎหมายสำหรับ “อาหารเสริมสุขภาพ” หรือ “อาหารเพื่อสุขภาพ”แต่ในเชิงการระบุสรรพคุณ อาจแบ่งอาหารเพื่อสุขภาพออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ Food with Health Claims (FHC) หรืออาหารที่สามารถอ้างเรื่องสุขภาพได้ และ อาหารทั่วไป ซึ่งได้แก่ อาหารทั่วไปที่ดีต่อสุขภาพ ในปัจจุบัน FHC หรืออาหารที่สามารถอ้างเรื่องสุขภาพได้นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Foods for Specified Health Uses (FOSHU) หรือ อาหารจำเพาะเพื่อสุขภาพ เป็นอาหารที่ได้ผ่านการตรวจสอบด้านผลการออกฤทธิ์ ซึ่งให้ผลจำเพาะทางสรีรวิทยาหรือทางสุขภาพรวมถึงด้านความปลอดภัย และจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเป็นรายผลิตภัณฑ์ก่อนจึงจะสามารถระบุสรรพคุณและประทับตราสัญลักษณ์ “Foods for Specified Health Uses” บนฉลากได้
  1. Foods with Nutrient Function Claims (FNFC) หรือ อาหารที่ให้ผลทางโภชนาการ เป็นอาหารซึ่งมีองค์ประกอบทางโภชนาการ เช่น มีวิตามินหรือแร่ธาตุอยู่ในระดับมาตรฐาน (ซึ่งกำหนดระดับต่ำสุดและสูงสุดที่ร่างกายควรได้รับต่อวัน) บนฉลากจะต้องระบุปริมาณขององค์ประกอบนั้น ๆ และคุณประโยชน์ของวิตามินหรือแร่ธาตุนั้น ๆ ตามวิธีการระบุที่กำหนด รวมทั้งข้อควรระวังในการบริโภค (ถ้ามี) และหากได้ดำเนินการตามข้อกำหนดของการระบุฉลากตามที่กำหนดแล้วก็สามารถผลิตจำหน่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตหรือจดแจ้งเพื่อการจำหน่ายเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดอื่น ๆ สำหรับสินค้าอาหารทั่วไป ทั้งนี้ สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพประเภทนี้จะไม่สามารถระบุสรรพคุณในลักษณะ อาทิ เช่น “ช่วยในการลดน้ำหนัก” หรือ “ช่วยผ่อนคลายสายตา” ฯลฯ ได้ ยกเว้นสรรพคุณในเชิงโภชนาการของสารอาหารที่มีอยู่ในสินค้านั้น
  2. Foods with Function Claims (FFC) หรือ อาหารที่อ้างอิงสรรพคุณ เป็นประเภทใหม่สำหรับอาหารเพื่อสุขภาพ เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2015 ก่อนหน้านั้นสินค้าอาหารที่สามารถระบุสรรพคุณเพื่อสุขภาพได้ มีเพียง 2 ประเภทข้างต้น ซึ่งต้องผ่านการอนุญาตจากภาครัฐหรือจะต้องมีองค์ประกอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ทำให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตขนาดกลางหรือเล็กในการผลิต จำหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้ผ่อนคลายอุปสรรคดังกล่าวโดยการเพิ่มประเภท FFC ซึ่งสามารถระบุสรรพคุณเพื่อสุขภาพได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการประเมินและอนุญาตเป็นรายผลิตภัณฑ์จากภาครัฐ แต่เพียงทำการจดแจ้งกับสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีข้อมูลหลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์แสดงความปลอดภัยและผลต่อสุขภาพ และมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อความปลอดภัยและการระบุสรรพคุณนั้น ๆ ทั้งนี้ หลักฐานเชิงวิทยาศาสตร์ต้องได้จากการทดสอบทางคลินิก (Clinical Trails) หรือจากรายงานผลการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) ของสารสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพ

บริษัท Fuji Keizai ได้ทำการศึกษาขนาดตลาดสินค้าอาหาร FHC (ภาพที่ 20) พบว่าในปี ค.ศ. 2018 ตลาดสินค้าอาหาร FHC มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 7.11 แสนล้านเยน (ประมาณ 2 แสนล้านบาท) โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 จากปี ค.ศ. 2017 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระบบ ได้แก่

  1. ตลาดอาหาร FOSHU ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าสูงสุด มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 3.90 แสนล้านเยน (1.1 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4
  2. ตลาดอาหาร FNFC เติบโตอยู่ในระดับคงที่ คิดเป็น 1.24 แสนล้านเยน (3.6 หมื่นล้านบาท) และ
  3. ตลาดอาหาร FFC มีแนวโน้มจะเจริญเติบโตมากขึ้นไป มีมูลค่าเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1.97 แสนล้านเยน (5.7 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1

 

ภาพที่ 1  มูลค่าการตลาดของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นในช่วง 4 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 – 2018 โดยเปรียบเทียบขนาดและการเติบโตทางธุรกิจของอาหารสุขภาพ 3 รูปแบบ

ที่มา: บริษัท Fuji Keizai, 2561

สิ่งที่น่าสนใจ คือระบบ FFC นี้ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพในประเทศญี่ปุ่น เอื้อต่อธุรกิจ SMEs และยังคงคุ้มครองผู้บริโภคและสร้างความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ในขณะที่ FOSHU และ FNFC ต้องผ่าน อย. และมีการทดลองทางคลินิกที่ซับซ้อน ยุ่งยาก และลงทุนสูง ทําให้เป็นอุปสรรคต่อผู้ผลิตอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กที่ผลิตและจําหน่ายอาหารเพื่อสุขภาพดังกล่าว

ประวัติระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่น ในปี ค.ศ. 1991 ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการนำระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพมาใช้ โดยใช้ชื่อว่า ระบบ FOSHU ต่อมาในปี ค.ศ 2001 ได้เพิ่มระบบการกล่าวอ้างหน้าที่ของสารอาหารมาเข้ามา ได้แก่ FNFC จากนั้นในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 2015 จึงได้มีการเพิ่มระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างหน้าที่ หรือ FFC ขึ้นมาอีกหนึ่งระบบ ดังนั้น ในปัจจุบันระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของประเทศญี่ปุ่นจึงแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบ ซึ่งแต่ละระบบมีลักษณะ เกณฑ์การประเมิน และเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป

ในปี ค.ศ. 2002 หน่วยงานที่กำกับดูแล ควบคุมการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่น คือ กระทรวงสาธารณะสุข แรงงาน และสวัสดิการสังคม (Ministry of Health, Labour and Welfare; MHLW) ดูแลการกล่าวอ้างทางสุขภาพในระบบ FOSHU และ FNFC ภายใต้กฎหมาย Health Promotion Law  ต่อมาในปี ค.ศ. 2009 ประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (Consumer Affairs Agency; CAA) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองและปกป้องสิทธิของผู้บริโภค สร้างความมั่นใจและให้ความรู้ผู้บริโภคต่อการเลือกซื้อสินค้า ทำให้ CAA ได้รับหน้าที่ในการควบคุมดูแลการกล่าวอ้างทางสุขภาพมาจาก MHLW

การควบคุมดูแลด้านการกล่าวอ้างทางสุขภาพของประเทศญี่ปุ่น มีเกณฑ์บังคับเกี่ยวกับฉลากของผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ 1. Food Sanitation Law 2. Japanese Agriculture Standard (JAS) และ 3. Health promotion Law ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้เกิดการพิจารณาออกกฎหมายใหม่เพื่อใช้ในการกำกับดูแล ภายใต้ชื่อ “Food Labeling Act” ในปี ค.ศ. 2013 เพื่อกำกับดูแลอาหารที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพทั้ง 3 ระบบ  ซึ่งระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพของญี่ปุ่นนี้ เป็นที่กล่าวขานว่าเป็นระบบที่เข้าใจง่าย มีเกณฑ์การประเมินชัดเจนกว่าระบบของ อย. ประเทศใดในโลก

ในที่นี้จะขอกล่าวถึงระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพระบบใหม่ ได้แก่ FFC ซึ่งเป็นระบบการกล่าวอ้างทางสุขภาพที่เริ่มใช้เมื่อเดือนเมษายน ปี ค.ศ. 2015 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มีการกล่าวอ้างทางสุขภาพนอกเหนือจากระบบเดิม ที่มีขั้นตอนการพิจารณาที่เข้มงวด ใช้เวลาในการขออนุญาตนาน และเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เอื้อต่อผู้ประกอบการ SMEs และยังมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ระบบ FFC เป็นอาหารที่มีคุณสมบัติหรือทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ โดยมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ เป็นอาหารที่ช่วยดำรงหรือสร้างเสริมสุขภาพ แต่มีใช้มีไว้เพื่อบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค ใช้ในบุคคลปกติทั่วไป แต่ไม่รวมผู้ยังไม่บรรลุนิติภาวะ หญิงมีครรภ์ (รวมถึงวางแผนตั้งครรภ์) และหญิงให้นมบุตร  การขออนุญาตในระบบ FFC ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบต่อการยื่นเอกสารแจ้งต่อสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคก่อนออกวางจำหน่าย 60 วัน โดยเอกสารที่ยื่นจำเป็นต้องมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถยืนยันถึงผลดีต่อสุขภาพตามที่กล่าวอ้างและความปลอดภัยต่อการบริโภค ข้อมูลที่ผู้ประกอบการยื่นขอผลิตภัณฑ์ FFC จะถูกนำไปเผยแพร่บนเว็บไซต์ของ CAA (ในส่วนที่ไม่ก้าวล่วงต่อทรัพย์สินทางปัญญา) และ CAA จะมีการติดตามดูแลหลังจากการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

หลักเกณฑ์ของ FFC มีความผ่อนคลายระเบียบข้อกำหนดเกี่ยวกับอาหารเพื่อสุขภาพในระบบ FOSHU และ FNFC เป็นอย่างมาก โดยหลังจากการประกาศใช้ระบบ FFC ในปี ค.ศ. 2015 ได้มีบริษัทผู้ผลิตอาหารให้ความสนใจอย่างมาก จนในปี ค.ศ. 2020 มีอาหารมากกว่า 3,500 ชนิด (8 ในนั้นเป็นอาหารทำสด) ได้ถูกวางตลาดด้วย ฉลาก FFC ในขณะเดียวกัน เพื่อความชัดเจนในคุณสมบัติพิเศษของผลิตผลทางการการเกษตร National Agriculture and Food Research Organization หรือ NARO (อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร) ได้ดำเนินโครงการวิจัยด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผลิตผลทางการเกษตร และแสดงถึงผลเชิงสุขภาพได้ เช่นด้านการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุน ด้วยส้มแมนดารินสายพันธุ์ Satsuma ที่มี β-cryptoxanthin ในปริมาณสูง และการลดภูมิแพ้ของชาสายพันธุ์ Bennifuki ทีมีสาร O-methylated catechin ในปริมาณสูง อาหารเหล่านี้ได้ถูกจัดว่าได้สถานะ FFC นอกจากนี้ NARO ได้ขยายความและสรุปคุณสมบัติเชิงสุขภาพของอาหารเชิงหน้าที่อีกหลายชนิด เช่น β-glucan ในข้าวบาร์เล่ย์ β-conglycinin ในถั่วเหลือง และ Quercetin ในหัวหอมใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึง Bento หรืออาหารกล่องญี่ปุ่น (ทำสด) ด้วย

กล่าวได้ว่าระบบ FFC คือ ระบบหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมการวิจัยพัฒนาสินค้าเกษตรและอาหารที่มีปริมาณสารสำคัญในระดับที่ให้ผลทางสรีระต่อร่างกาย เกิดประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูง  ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานที่น่าเชื่อถือของประเทศญี่ปุ่น  ผู้ผลิตอาหารสามารถขอการรับรองและติดตราสัญลักษณ์ FFC บนฉลากอาหารที่ผ่านการประเมินแล้ว  ซึ่งเป็นทางเลือกในการอนุญาตให้กล่าวอ้างทางสุขภาพประเภทหนึ่งที่เหมาะกับเกษตรกรและผู้ประกอบการรายเล็ก  FFC สามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับวัตถุดิบอาหารในท้องถิ่นจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ยกระดับด้านคุณภาพและมูลค่าของสินค้าเกษตรและอาหารได้

มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ FFC Japan เพิ่มขึ้นจาก 60 พันล้านเยน เป็น 250 พันล้านเยน ใน 5 ปี (ภาพที่ 21 และ 22) และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการส่งเข้าขออนุญาตเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลิตผลการเกษตรสดที่ได้รับอนุญาต FFC 74 ชนิด อาหารและอื่น ๆ รวม มากกว่า 3,500 ผลิตภัณฑ์

ภาพที่ มูลค่าทางเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ FFC Japan เพิ่มขึ้นจาก 60 พันล้านเยน เป็น 250 พันล้านเยน ใน 5 ปี หลังจากเริ่มโครงการ

ที่มา: CAA Database, 2019

ภาพที่ 3  มูลค่าผลิตภัณฑ์เปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตในระบบ FOSHU และ FFC Japan โดยระบบ FFC เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจได้เร็วกว่าในช่วงเวลาอันสั้น (แกน Y หน่วยพันล้านเยน)

ที่มา: CAA Database, 2019

การทำงานของระบบ FFC หลังจากที่ MHLW ได้ตั้งเกณฑ์การทำงานเรียบร้อยแล้ว ระบบ FFC ถูกส่งมอบให้ CAA ซึ่งเป็นผู้จัดการกระบวนการยื่นขอจดแจ้งและจัดการการประเมินเพื่อขึ้นทะเบียน FFC และ NARO เป็นหน่วยวิจัยทางการเกษตรที่ได้ทำงานวิจัยเพื่อใช้ขออนุญาตตามแนวทางการทำงานของ FFC ดังแสดงรูปแบบการทำงานตามภาพที่ 23  ซึ่งหลักเกณฑ์ของระบบ FFC Japan มีข้อกำหนดที่เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การกล่าวอ้างทางสุขภาพของไทย ในการประเมินความปลอดภัย และ Totality of Evidence ของหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้  ทั้งนี้ระบบ FFC จะครอบคลุมสินค้าที่หลากหลายกว่า คือรวมถึงผลิตผลทางการเกษตรและอาหารปรุงสด และมีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่า โดยสามารถสรุปหลักเกณฑ์ได้ ดังนี้

  1. ต้องมีข้อมูลการประเมินความปลอดภัยของอาหาร (Safety Evaluation)
  2. เน้นการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ของสารออกฤทธิ์/สารอาหาร แต่ไม่มีการกล่าวอ้างการลดความเสี่ยงของการเกิดโรค (Disease Risk Reduction Claims)
  3. เอกสารและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ในการประเมินการกล่าวอ้างทางสุขภาพเป็นรูปแบบของ Randomized Controlled Trial (RCT) ที่เป็น Well-designed Human Clinical Trial ที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่เชื่อถือได้ หรือมี Systematic Review หรือ Meta-analysis
  4. มีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่าจะรวมหรือตัดงานวิจัย โดยใช้เกณฑ์ของ PICO (Population, Intervention, Control, and Outcomes) Framework การวิเคราะห์ทางสถิติ Level of Confidence 95%, Indicator, Moderator, มีตัวอย่างการขออนุญาตที่ชัดเจน เช่น แนวทางการเขียนบทคัดย่อ การขออนุญาตต้องมี Specifications ของผลิตภัณฑ์ และการตรวจวิเคราะห์แนบมาด้วยพร้อมการแสดงฉลาก

ภาพที่ 4  โครงสร้างการทำงานของระบบ FFC Japan

ที่มา:  FIRN by FoSTAT, 2564; CAA, 2564 และ NARO, 2564

 

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นรูปแบบความสําเร็จของประเทศญี่ปุ่นที่ได้สนับสนุนให้ธุรกิจอาหาร SMEs สามารถก้าวเข้าสู่การผลิตอาหารมูลค่าสูงและกล่าวอ้างได้ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งระบบห่วงโซ่การผลิตอาหารของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รูปแบบดังกล่าวน่าจะนํามาประยุกต์ใช้กับรูปแบบของประเทศไทยโดยมีเป้าหมายเดียวกันก็คือเอื้อต่อธุรกิจอาหารระดับ SMEs ที่จะได้รับประโยชน์จากการออกแบบการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบโดยภาครัฐ ดังนี้

  • ผู้ประกอบการขนาด SMEs สามารถเข้าถึงข้อมูลงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการขออนุญาตกล่าวอ้างเชิงสุขภาพได้ โดยลงทุนไม่สูงมาก ภาครัฐสามารถอํานวยความสะดวกให้การอนุญาตเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว
  • เกษตรกร สามารถขายสินค้าเกษตรในราคาสูงขึ้น เกิดการพัฒนาสร้างอาชีพใหม่ ต่อยอดเข้าสู่อาหารมูลค่าสูงได้
  • ผู้บริโภค ได้รับความรู้ ในการเลือกซื้อ เลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างถูกต้องและมั่นใจ สามารถสืบค้นข้อมูลการวิจัยในส่วนที่ไม่เป็นการละเมิดถึงทรัพย์สินทางปัญญาของผู้ผลิตที่ถูกนำมาใช้สนับสนุนข้อความการกล่าวอ้างเชิงหน้าที่ หากมีการหลอกลวงมีระบบเพิกถอนการอนุญาต

โดยแต่ละผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียต่างล้วนมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องเกี่ยวข้องกับการปลูก การแปรรูป การผลิต การควบคุมดูแล และการบริโภค ซึ่งจะเป็นการกระจายหน้าที่และความรับผิดชอบในรูปแบบที่เกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win Situation)

การนำระบบ FFC หรือ Food with Function Claim มาปรับใช้กับประเทศไทยเพื่อพัฒนาเป็นรูปแบบ FFC Thailand สามารถเป็นระบบหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ที่เกี่ยวโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ต้องพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามทุกข้อของกรอบยุทธศาสตร์ชาติ ขับเคลื่อนการพัฒนาสร้างระบบการผลิตสมัยใหม่ การควบคุมคุณภาพความปลอดภัยที่เป็นที่ยอมรับในมาตรฐานระดับนานาชาติ และกระบวนการเกณฑ์ขั้นตอนการยืนยันความปลอดภัยและขออนุญาตการกล่าวอ้างทางสุขภาพอย่างมีหลักการทางวิชาการที่เป็นที่เข้าใจอย่างชัดเจน เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการส่งเสริม สร้างมูลค่าของอาหารที่พัฒนาอย่างดีแล้ว เพิ่มจากงานวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม โปร่งใส รวดเร็วและตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ระบบ FFC Thailand อาจเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพิจารณาผลิตภัณฑ์อาหารตำหรับท้องถิ่นบางชนิด รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่พิสูจน์ได้ทางวิทยาศาสตร์ถึงผลกระทบทางสรีระเชิงสุขภาพของมนุษย์ ทั้งยังสามารถขยายงานวิจัยไปสู่การประเมินพืชผัก ผลไม้ทานสด ที่ผ่านการพิสูจน์ตามมาตรฐานความปลอดภัยและผลต่อสุขภาพ ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสสำหรับนักวิจัยเกษตรสมัยใหม่และธุรกิจเกษตรแบบใหม่ รวมถึงการนำวัสดุเหลือใช้ที่มีคุณค่าทางสุขภาพมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรเชิงหน้าที่ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมระดับต้นน้ำให้ได้รายได้สูงขึ้น

ระบบ FFC Japan เป็นอย่างไร

  1. พิจารณาว่าผลิตภัณฑ์ที่จะยื่นขอ ซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารโดยทั่วไปสามารถยื่นขออนุญาต FFC Japan ได้ ยกเว้นในบางกรณีที่ไม่สามารถยื่นขอ FFC Japan ได้ เช่น
  • ผลิตภัณฑ์อาหารเฉพาะกลุ่ม (ไม่ใช้สำหรับบุคคลปกติทั่วไป) เช่น สำหรับผู้ป่วย สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • ผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่สามารถระบุชนิดของสารสำคัญได้
  • ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสำคัญใดๆ ที่เป็นสารอาหาร (nutrient) ตามที่ระบุโดย MHLW (Ministry of Health, Labour and Welfare)
  • เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • อาหารที่ทำให้เกิดการได้รับสารอาหารบางชนิดมากเกินความจำเป็น (เช่น ไขมัน กรดไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล คาร์โบไฮเดรต (เฉพาะ mono-and disaccharides ที่ไม่ใช่น้ำตาลแอลกอฮอล์) และโซเดียม)
  1. ยื่นข้อมูลด้านความปลอดภัย (Product safety)
  • ยื่นข้อมูลด้านความปลอดภัยที่มี เช่น ประวัติการบริโภค ข้อมูลด้านความปลอดภัยจากฐานข้อมูล ข้อมูลจากการวิเคราะห์ความปลอดภัยของสารสำคัญหรือผลิตภัณฑ์
  • หากมีอันตรกิริยาของสารสำคัญ จะต้องมีข้อมูลที่สามารถชี้แจงได้
  1. ยื่นข้อมูลของระบบการผลิต การปลูก และการควบคุมคุณภาพ
  2. ยื่นข้อมูลของระบบของการจัดเก็บรวบรวมรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทางสุขภาพหลังรับประทาน (Adverse health effect)
  3. ยื่นข้อมูลของการกล่าวอ้างทางสุขภาพ โดยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ยื่น อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้
  • ผลการทดสอบในมนุษย์ (Clinical trial) ของผลิตภัณฑ์สุดท้าย
  • การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (systematic literature review) ของผลิตภัณฑ์สุดท้าย หรือ สารสำคัญ
  1. มีข้อมูลการแสดงฉลากอย่างเหมาะสม

เมื่อผู้ประกอบการได้ยื่นหลักฐานครบถ้วนแก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารแล้ว จะได้รับเลขจดแจ้ง (Notification number) ของ FFC Japan และสามารถวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก FFC Japan ได้

สามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่องระบบและขั้นตอนในการยื่นขอ FFC Japan ได้ที่

 

  1. การแสดงข้อมูลบนฉลากบรรจุภัณฑ์ (ข้อมูลต่างๆที่แสดง เช่น สรรพคุณตามหลักวิทยาศาสตร์ของสารสำคัญเชิงหน้าที่และส่วนประกอบที่เกี่ยวข้อง ปริมาณที่แนะนำในการบริโภคต่อวัน ปริมาณสารสำคัญเชิงหน้าที่ต่อปริมาณที่แนะนำการบริโภคต่อวัน ชื่อสารสำคัญเชิงหน้าที่ ปริมาณที่ผสมอยู่ วิธีการเก็บรักษา วิธีการบริโภค ข้อความระวังในการบริโภค เลขจดแจ้ง ข้อมูลการติดต่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น) 
  2. การเผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติม นอกเหนือจากที่แสดงบนบรรจุภัณฑ์ จะมีการเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์กรมคุ้มครองผู้บริโภค (CAA) การเปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ของผู้ยื่น

 

ตัวอย่างข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพรูปแบบ FFC  เช่น 

  • The food contains β-cryptoxanthin, which reportedly maintains bone health by facilitating bone metabolism.
  • The food contains apple procyanidin, which reportedly reduces visceral fat.
  • The food contains lutein, which reportedly increases retinal pigment that protects the eyes from light stimulation.
  • The food contains GABA, which reportedly reduces high-normal blood pressure.

 

สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมของ FFC Japan ได้ที่