Food Innovation &
Regulation Network

l

FFC Thailand

FFC Thailand (Food with Function Claim Thailand) คือ ระบบรับรองการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพในสินค้าเกษตรและอาหาร ส่วนประกอบเชิงหน้าที่ (Functional Ingredient) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยผู้ประกอบการทุกระดับสามารถยืนยันการกล่าวอ้างเชิงสุขภาพด้วยเอกสารหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบออนไลน์ โดยระบบนี้จะเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการพัฒนา “อาหารมูลค่าสูง” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อาหารเชิงหน้าที่ (Functional Food)” ซึ่งประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาธุรกิจด้านต้นน้ำแต่ยังขาดกลไกการขับเคลื่อนที่ชัดเจนอย่างเป็นระบบจากต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ โดยลักษณะเด่นของระบบ FFC Thailand ที่จะมาช่วยปิดช่องว่างเชิงระบบนิเวศในอดีต และลดระยะเวลาในการออกสู่ตลาดของผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพประกอบไปด้วย

  1. ผู้ประกอบการมีหน้าที่โดยตรงในการรับผิดชอบด้านคุณภาพและความปลอดภัยตามกฎหมาย และกฎระเบียบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  2. ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลของความปลอดภัยและงานวิชาการที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เพื่อทำความเข้าใจข้อความกล่าวอ้าง ข้อบ่งใช้ ข้อแนะนำเพิ่มเติม รวมถึงข้อมูลความปลอดภัย และผลสรุปวิจัยเชิงสุขภาพ เพื่อการให้ความรู้แก่ผู้บริโภค และสร้างความเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์
  3. FFC มีระบบตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังการวางขาย และมีมาตรการยกเลิกการอนุญาตได้หากผลการทดสอบไม่เป็นไปตามที่ยื่นขออนุญาตไว้

 

ระบบ FFC Thailand จะช่วยพัฒนาความรู้และยกระดับการวิจัยและพัฒนาของประเทศ ตลอดจนพัฒนาผู้ประกอบการและนักวิจัยด้านการยืนยันการกล่าวอ้างทางสุขภาพด้วยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ให้เข้มแข็งและสร้างระบบฐานข้อมูลนวัตกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนาอาหารเชิงหน้าที่ (เช่น ข้อมูลงานวิจัย เกณฑ์ การออกแบบงานวิจัยเพื่อรายงานหลักฐานยืนยันคุณสมบัติเชิงสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแนวทางในการรวบรวมหลักฐานประกอบการขออนุญาต) เพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ อย่างไรก็ดี FFC Thailand จะสำเร็จผลได้มากน้อยขึ้นอยู่กับการรับรู้และร่วมขับเคลื่อนเชิงนโยบายเกษตรและอาหารของประเทศ ที่ต้องมีการวางแผนและดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง

อาหารเชิงหน้าที่ (Functional foods) และ ส่วนประกอบเชิงหน้าที่ (Functional Ingredients) คือ ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณสมบัติเชิงหน้าที่เฉพาะเจาะจงในการส่งเสริมสุขภาพด้านใดด้านหนึ่ง โดยมีสารสำคัญหรือส่วนประกอบเชิงหน้าที่ที่นอกเหนือไปจากสารวิตามิน/เกลือแร่เพื่อโภชนาการทั่วไป  ตัวอย่าง เช่น กรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ช่วยปรับสมดุล ลดการอักเสบของร่างกายและบำรุงระบบสมองและสายตา พรีไบโอติกและโพรไบโอติก สารฟีนอลิกจากพืชทีช่วยการทำงานของระบบหลอดเลือดและหัวใจ เป็นต้น

การจัดทำระบบอาหารที่มีการกล่าวอ้างอาหารเชิงหน้าที่และส่วนประกอบเชิงหน้าที่ เป็นการพัฒนาระบบนิเวศและปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวสู่เวทีการแข่งขันเชิงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Supplements) โภชนเภสัช (Neutraceuticals) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และ
อื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาวะของประชาชนโลกและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตผลการเกษตรและอาหารของไทย

มูลค่าการตลาดของอาหารเชิงสุขภาพของประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 253 พันล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 (ข้อมูลของยูโรมอนิเตอร์) และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่อัตราร้อยละ 11 (นริศร์ธร, 2559) โดยเฉพาะกลุ่มที่มีผลด้านการเสริมสุขภาพและสารสำคัญเชิงหน้าที่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากในตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของประเทศและของโลก อาหารเชิงหน้าที่จะมีอัตรากำไรสูงกว่าอาหารทั่วไปถึง 3 เท่า มีแนวโน้มเติบโตอย่างมากจากกระแสด้านสุขภาพ และมีโอกาสทางธุรกิจโดยเฉพาะสำหรับธุรกิจ SMEs และธุรกิจเกษตรสมัยใหม่อีกมาก

การลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนด้านวิจัยและพัฒนาและการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ยังไม่สามารถพัฒนายกระดับศักยภาพถึงระดับอนุญาตหรือรับรองผลิตภัณฑ์เชิงหน้าที่ตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เท่าที่ควรส่งผลให้ความพยายามด้านวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงหน้าที่ไม่สามารถเข้าสู่การได้รับอนุญาต หรือเข้าสู่กระบวนการขอการอนุญาตได้แต่ไม่สำเร็จ

ระบบ FFC Thailand จึงเป็นระบบที่มีรายละเอียดชัดเจนถึงสิ่งที่ต้องส่งมอบ รวมถึงรายละเอียดการออกแบบวิจัยที่ได้มาตรฐานสากล การจัดทำการทบทวนวรรณกรรมและงานวิชาการอื่น ๆ โดยผู้ประกอบการสามารถยืนยันเอกสารที่ส่งมอบทางระบบออนไลน์และหากครบถ้วนสามารถออกผลิตภัณฑ์ได้ภายใน 60 วัน และมีมาตรการป้องกันการมิจฉาชีพ คือ FFC มีระบบการออกตรวจผลิตภัณฑ์ที่ได้ขึ้นทะเบียน FFC และหากผลวิเคราะห์ไม่สามารถยืนยันสารสำคัญได้ ผลิตภัณฑ์จะถูกเพิกถอนและบริษัทจะไม่สามารถเข้ามายื่นอีกได้

FFC Thailand จะเกิดประโยชน์กับใคร